รีเซต

แฟชั่นยุคหิน มนุษย์โบราณนิยมทุบฟันหน้าออก เหตุผลเพื่อความสวยงาม เพิ่มเสน่ห์ดึงดูด

แฟชั่นยุคหิน มนุษย์โบราณนิยมทุบฟันหน้าออก เหตุผลเพื่อความสวยงาม เพิ่มเสน่ห์ดึงดูด
TNN ช่อง16
19 พฤศจิกายน 2567 ( 10:54 )
20

นักวิจัยพบว่ามนุษย์โบราณบนเกาะไต้หวัน นิยมถอนฟันหน้าที่สภาพดีและแข็งแรงออก เหตุผลหลักคือเพื่อความสวยงาม เพิ่มเสน่ห์ต่อเพศตรงข้าม


การศึกษานี้ดำเนินการโดยนักวิจัยภาควิชาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียและมหาวิทยาลัยกวม ศึกษาโครงกระดูกที่ขุดพบจาก 40 แหล่งในไต้หวัน พบกระโหลกศีรษะของผู้ชายและผู้หญิง มีฟันหายไปด้วยรูปแบบที่คล้ายคลึงกันจำนวนมาก โดยนักวิจัยพบว่า ฟันที่ถูกถอนออก จะอยู่ในตำแหน่งที่มีความสมมาตร และพบได้ทั่วไปในกระโหลกของผู้ที่มีสุขภาพช่องปากแข็งแรง จึงวิเคราะห์ว่าเป็นการถอนฟันออกด้วยความตั้งใจ ไม่ใช่เกิดจากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ


ที่มา : Zhang et al.

ที่มา : Zhang et al.


สาเหตุในการถอนฟัน

สาเหตุในการถอนฟันดังกล่าว นักวิจัยคาดว่า น่าจะมีความเป็นไปได้ 4 ประการ คือ 

1. ต้องการแยกลักษณะฟันของมนุษย์ให้แตกต่างจากลักษณะฟันของสัตว์ เช่น สุนัข ลิง และหมู เพราะว่าฟันปกติถูกมองว่าไม่สวยงาม นอกจากนี้การถอนฟันออกยังเป็นการเผยช่องว่างให้เห็นลิ้นสีแดงสด เพิ่มความสวยงาม เพิ่มเสน่ห์ดึงดูดต่อเพศตรงข้าม 

2. เป็นการถอนฟันออกเพื่อให้ออกเสียงพูดได้ดีขึ้น ลดโอกาสที่ฟันจะเรียงตัวกันแน่นเกินไป

3. เป็นการทดสอบความกล้าหาญ

4. เป็นพิธีกรรมหนึ่งของชนเผ่า เช่น การเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กเข้าสู่วัยผู้ใหญ่


นักวิจัยพบว่า ในชนเผ่าต่าง ๆ จะมีรูปแบบการถอนฟันที่แตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วจะเป็นการถอนฟันหน้า ส่วนใหญ่เป็นฟันหน้าตัด และฟันเขี้ยว 


วิธีการถอนฟัน

ส่วนวิธีการถอนฟันก็มีความแตกต่างกัน โดยชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของไต้หวัน ได้แก่ อะทายัล (Atayal) ไซซิยาต (Saisiyat) เซดิก (Sediq) ทาว (Thao) และตรูกู (Truku) ใช้วิธีการตี คือวางวัสดุบางอย่างไว้บนผิวของฟัน จากนั้นใช้อุปกรณ์ เช่น โลหะ หิน หรือไม้ ตีที่ปลายอีกด้านของวัสดุ 


ในขณะที่ชนเผ่าทางใต้ ได้แก่ บูนูน (Bunun) ฮาลาลัว (Hla'alua) คานาคานาวู (Kanakanavu) และซู (Tsou) ใช้เทคนิคเอาด้ายมัดฟันให้แน่น จากนั้นดึงให้หลุดออก


เมื่อฟันถูกถอนออกไปแล้ว โพรงฟันจะถูกอุดด้วยขี้เถ้าจากพืช เช่น พืชสายพันธุ์ มิสแคนทัส ฟลอริดูลัส (Miscanthus floridulus) หญ้าชนิดหนึ่งซึ่งจะหยุดเลือดและช่วยป้องกันการอักเสบ ทั้งนี้นักวิจัยยังได้ศึกษาบันทึกทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติม พบว่า พิธีกรรมการถอนฟันส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในฤดูหนาวเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อด้วย


ส่วนฟันที่ถูกถอนออกมาแล้ว จะถูกนำไปฝังในสถานที่ต่าง ๆ เช่น หน้าโรงนา ใต้เตียง และบนหลังคา 


ประเพณีการถอนฟันที่มีมาอย่างยาวนาน

นักวิจัยกล่าวว่าความนิยมในการถอนฟันในไต้หวันนี้มีมาอย่างยาวนาน เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 4800 ปีก่อนคริสตกาล และดำเนินต่อเนื่องมาถึงต้นทศวรรษที่ 1900 จนกระทั่งประมาณทศวรรษที่ 1910 หน่วยงานปกครองได้มีการปราบปรามประชากรพื้นเมือง ทำให้ประเพณีในท้องถิ่นนี้หายไป


นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า พิธีกรรมโบราณนี้น่าจะเริ่มแพร่หลายในไต้หวัน ในช่วงเวลาเดียวกับการทำเครื่องปั้นดินเผาและการปลูกพืชผล ซึ่งบ่งชี้ว่าอาจเป็นประเพณีที่แพร่เข้ามาจากการอพยพจากจีน คาดว่าต้นกำเนิดน่าจะมาจากแม่น้ำแยงซีตอนกลาง ไปจนถึงชายฝั่งกวางตุ้ง - ฝูเจี้ยน


งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Archaeological Research in Asia ฉบับเดือนธันวาคม 2024


ที่มา : Zhang et al.

ที่มา : Zhang et al.

ที่มา : Zhang et al.

ที่มา : Zhang et al.


ที่มาข้อมูล NewAtlas, ScienceDirect

ที่มารูปภาพ ScienceDirect

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง