รีเซต

วาฬถือมืด ? AI ค้นพบลวดลายปริศนา "นาซกา" กลางทะเลทรายเปรู กว่า 300 เส้น

วาฬถือมืด ? AI ค้นพบลวดลายปริศนา "นาซกา" กลางทะเลทรายเปรู กว่า 300 เส้น
TNN ช่อง16
27 กันยายน 2567 ( 12:31 )
39

ทีมนักวิจัยจากญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการค้นพบเส้นนาซกา (Nazca Lines) ใหม่จำนวน 303 เส้น ที่ซ่อนอยู่ในทะเลทรายนาซกาของประเทศเปรู หนึ่งในแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก (UNESCO) โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเร่งกระบวนการค้นหาให้รวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น


ภาพจาก Masato Sakai et al., ที่มา : PNAS


เส้นนาซกาเป็นรูปสลักขนาดใหญ่บนพื้นดินที่สร้างขึ้นในช่วงอารยธรรมนาซกา (Nazca civilization) ระหว่าง 200 ปีก่อนคริสตกาลถึง 500 ปีหลังคริสตกาล ในอดีต นักโบราณคดีใช้เวลายาวนานถึงเกือบศตวรรษ เพื่อค้นพบลวดลายเหล่านี้ด้วยจำนวนทั้งหมดเพียง 430 เส้น แต่ในปี 2023 ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยยามากาตะ (Yamagata University) ประเทศญี่ปุ่น ได้นำ AI มาใช้วิเคราะห์ภาพถ่ายจากดาวเทียม ซึ่งสามารถตรวจจับเส้นสลักที่มองเห็นได้ยาก ทำให้พบเส้นสลักใหม่กว่า 300 เส้น ภายในเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น


AI มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยามากาตะได้ฝึกปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้สามารถตรวจจับเส้นขอบและรายละเอียดของภาพสลักพื้นดิน (geoglyphs) ที่มีลักษณะจาง ๆ ได้ ซึ่งช่วยให้นักวิจัยสามารถระบุรูปร่างต่าง ๆ จากภาพถ่ายจากดาวเทียมที่อาจเคยมองข้ามไป


โดย AI ทำงานได้เร็วและแม่นยำกว่ามนุษย์ถึง 20 เท่า และยังสามารถรวบรวมพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีลวดลายเส้นนาซกาใหม่ ซึ่งรวมถึงพื้นที่บางส่วนที่ยังไม่เคยถูกสำรวจในเปรูก่อนหน้านี้ ด้านนักวิจัยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในช่วงกันยายน 2022 ถึงกุมภาพันธ์ 2023 ยืนยันว่า จุดที่ AI ระบุจำนวน 303 เส้นนั้นเป็นเส้นนาซกาจริง


การค้นพบนี้เผยให้เห็นถึงภาพของสัตว์และสิ่งของที่หลากหลาย เช่น ภาพคล้ายวาฬเพชฌฆาตที่ถือมีดยาวถึง 22 เมตร ภาพแนวนามธรรม (abstract) ของสัตว์ต่าง ๆ รวมถึงรูปที่น่าจะเป็นเหตุการณ์พิธีกรรม สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงชีวิตและประวัติศาสตร์ของผู้คนในยุคโบราณ และยังอาจนำไปสู่โอกาสในการค้นพบเส้นนาซกาเพิ่มเติมในอนาคต


นอกจากนี้ การค้นพบของ AI ล่าสุดยังเผยให้เห็นความแตกต่างสำคัญระหว่างเส้นนาซกา 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ภาพสลัก geoglyph แบบ "ลายนูน" (relief-type) และภาพสลัก geoglyph แบบ "เส้นตรง" (line-type) โดยเส้นลายนูนมักมีขนาดเล็กกว่าและลวดลายซับซ้อน ส่วนใหญ่มักเป็นรูปที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์หรือสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เช่น สัตว์เลี้ยงในบ้าน หรือหัวคนที่ถูกตัด ในขณะที่เส้นแบบเส้นตรงมีขนาดใหญ่กว่า ไม่ซับซ้อนเท่า และมักเป็นรูปของสัตว์ป่า


จากการคาดการณ์ในปัจจุบัน นักวิจัยเชื่อว่า AI จะช่วยค้นพบเส้นนาซกาใหม่อีกกว่า 250 แห่ง ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า 


ภาพจาก Masato Sakai et al., ที่มา : PNAS


ที่มาข้อมูล InterestingEngineering

ที่มารูปภาพ PNAS

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง