นายกฯเร่งทบทวน SMS เตือนภัยแผ่นดินไหว หลังแจ้งช้ากว่าชั่วโมง

จากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตื่นตระหนกต่อความล่าช้าในการได้รับ SMS เตือนภัยแผ่นดินไหว ล่าสุด วันที่ 31 มีนาคม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมด่วนร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงดิจิทัลและภาคเอกชน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาและทบทวน ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว ของประเทศ
ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), นายสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ จาก กสทช. รวมถึงผู้บริหารจาก AIS, NT และ True
นายประเสริฐรายงานว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชุมหาสาเหตุความล่าช้าในการส่ง SMS แจ้งเตือนภัย ต่อประชาชน ซึ่งพบว่าขั้นตอนการประมวลผลข้อมูลและส่งข้อความยังล่าช้า โดยเฉพาะในช่วงสรุปเนื้อหาและการประสานกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ
ที่ประชุมได้ข้อสรุปใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
- ปรับปรุงระบบปฏิบัติการของ ปภ. ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เพื่อให้สามารถส่งการเตือนภัยได้อย่างทันท่วงที
- กำหนด ไทม์ไลน์แจ้งเตือน ให้ชัดเจนว่าหลังเกิดเหตุจะใช้เวลากี่นาทีในการแจ้งเตือน
- ทบทวนวิธีการส่งข้อความในกรณีที่ระบบ cell broadcast ยังไม่สามารถใช้งานได้ โดยใช้ระบบ SMS สำรองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
นายกรัฐมนตรีตั้งข้อสังเกตว่าในวันเกิดเหตุ ปภ. ได้รับข้อมูลยืนยันจากกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานต่างประเทศตั้งแต่เวลา 13.36 น. แต่มีการส่ง SMS ครั้งแรกในเวลา 14.40 น. ซึ่งถือว่าช้ากว่าที่ควร ด้านอธิบดี ปภ. ชี้แจงว่าขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลและตรวจสอบความแม่นยำใช้เวลา และเมื่อได้ข้อยืนยันแล้วจึงเริ่มการส่งข้อความ
ทั้งนี้ ผู้บริหารเครือข่ายมือถือชี้แจงว่า การส่ง SMS เตือนภัยแผ่นดินไหว ไม่ใช่ระบบแจ้งเตือนหลัก และมีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น ต้องทราบหมายเลขผู้ใช้งานในพื้นที่ก่อน และการส่งข้อความไม่สามารถระบุตำแหน่งแบบเรียลไทม์ได้
นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ จาก AIS ระบุว่า ปัจจุบันสามารถส่ง SMS ได้ชั่วโมงละ 30 ล้านหมายเลข แต่การไล่เรียงส่งทีละเบอร์ยังใช้เวลา ขณะที่นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ จาก True ชี้ว่า ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการประมวลหมายเลขในพื้นที่เป้าหมาย โดยเฉพาะเมื่อคำสั่งแรกให้ส่งไปยังพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี
นายกรัฐมนตรียอมรับว่า SMS ไม่ใช่ช่องทางหลักในการเตือนภัย แต่ถือเป็น “ช่องทางเชิงรุก” ที่ควรได้รับการพัฒนาให้รวดเร็วและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น พร้อมเสนอให้พิจารณาข้อความแจ้งเตือนแบบสั้น เช่น “ให้ออกจากอาคาร” หากตรวจพบแรงสั่นสะเทือนเบื้องต้น แม้ยังไม่ทราบรายละเอียดเชิงลึกก็ตาม