รีเซต

‘หยวนต้า’ ชี้จีดีพีไทย 64 ติดลบแน่ หลังโควิดกระทบ 2 เดือน ฉุดเม็ดเงินสูญ 1.3-1.7 แสนลบ.

‘หยวนต้า’ ชี้จีดีพีไทย 64 ติดลบแน่ หลังโควิดกระทบ 2 เดือน ฉุดเม็ดเงินสูญ 1.3-1.7 แสนลบ.
มติชน
10 สิงหาคม 2564 ( 07:17 )
54
‘หยวนต้า’ ชี้จีดีพีไทย 64 ติดลบแน่ หลังโควิดกระทบ 2 เดือน ฉุดเม็ดเงินสูญ 1.3-1.7 แสนลบ.

‘หยวนต้า’ ชี้จีดีพีไทย 64 ติดลบแน่ หลังโควิดกระทบ 2 เดือน ฉุดเม็ดเงินสูญ 1.3-1.7 แสนลบ.

 

 

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในปี 2564 ประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทยทั้งปีจะติดลบอย่างแน่นอน แต่เป็นการติดลบในกรอบจำกัด ประมาณ 1% เนื่องจากผลกระทบของการระบาดโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล ภายใต้คาดการณ์ว่า ไตรมาส 4/2564 เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นกลับมาได้ใกล้เคียงช่วงเดียวกันปี 2563 โดยการใช้มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลในขณะนี้ ไม่ได้เป็นภาพเดียวกับการล็อกดาวน์เมื่อปี 2563 ที่เป็นการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ 100% ปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด แต่รอบนี้ยังมีหลายธุรกิจที่สามารถเดินหน้าต่อได้ โดยเฉพาะโรงงานในภาคการผลิตต่างๆ ที่แม้พบการระบาดโควิดคลัสเตอร์ใหม่ในกลุ่มโรงงานมากขึ้น แต่โรงงานก็ไม่สามารถปิดตัวได้ เพราะถือเป็นเครื่องจักรเดียวในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีอยู่ในแง่ของภาคการส่งออก โดยหากประเมินผลกระทบของมาตรการล็อกดาวน์ต่อเศรษฐกิจ จากการที่ภาคการผลิตยังเดินหน้าต่อไป ซึ่งภาคการผลิตคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีไทย อยู่ที่ 80-85% ทำให้ผลกระทบจากล็อกดาวน์ มีประมาณ 15-20% คิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปประมาณ 1.3-1.7 แสนล้านบาทต่อเดือน หรือ 0.8-1% ของจีดีพีที่หายไปต่อเดือน ซึ่งพิจารณาการระบาดโควิด ส่งผลกระทบประมาณ 2 เดือน ทำให้กระทบจีดีพีประมาณ 2% ซึ่งผลกระทบของโควิดเกิดขึ้นในไตรมาส 3/2564 จึงคาดว่าจีดีพีไตรมาส 3 จะติดลบประมาณ 2% มีค่ากลางอยู่ที่ 4%

 

 

 

นายณัฐพล กล่าวว่า พิจารณาจากภาพในอดีต พบว่าหลังจากเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นมักฟื้นตัวได้ก่อนเศรษฐกิจจริงเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์การระบาดโควิด-19 จะสามารถจบลงได้ในช่วงใด โดยในเดือนสิงหาคมนี้ เข้าสู่การระบาดรอบใหม่เป็นเดือนที่ 3 เริ่มจากเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งหากประเมินจากภาพการระบาดโควิดระลอกใหม่ในต่างประเทศ จะพบว่าใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จะเข้าสู่จุดสูงสุด (พีก) ในระบาด จึงเชื่อว่าเดือนสิงหาคมนี้ น่าจะเห็นจุดพีกของการระบาดโควิดในไทย ทำให้ความบอบช้ำมากที่สุดจะอยู่ในช่วงไตรมาส 3 นี้ โดยจากการประเมินผลกระทบจากโควิดและล็อกดาวน์ พบว่าเม็ดเงินจะหายไปจากระบบเศรษฐกิจ ประมาณ 1.3-1.7 แสนล้านบาท แต่ที่ผ่านมาเห็นการออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาล อาทิ การสนับสนุนค่าไฟฟ้า การช่วยจ่ายค่าเทอม และการชดเชยค่าจ้างแรงงานต่างๆ นั้น คิดเป็นเม็ดเงินใหม่ที่เข้ามาในระบบเศรษฐกิจมีประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นขนาดที่ใกล้เคียงกับเม็ดเงินที่สูญหายไป และเข้ามาสนับสนุนได้ทันเวลา แต่จะต้องเร่งให้ระบบเศรษฐกิจกลับมาหมุนได้เร็วที่สุด เพื่อให้เดินหน้าต่อได้เร็วที่สุด

 

 

 

“ความหวังที่มีในตอนนี้คือ เริ่มเห็นยอดผู้ติดเชื้อโควิดที่รักษาหายและสามารถกลับบ้านได้แล้ว ใกล้เคียงกับตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน ซึ่งภาพลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ส่งผลให้เห็นดัชนีหุ้นไทยถูกดึงกลับขึ้นไปได้ ซึ่งตรงนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนให้ระบบสาธารณสุขไทย สามารถรับมือโควิดได้แบบผ่อนคลายมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่ารับมือได้ดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ยังตึงตัวอยู่ รวมถึงการฉีดวัคซีนในประเทศ สามารถทำจุดสูงสุดได้แล้ว และในเดือนสิงหาคม ถือเป็นเดือนที่วัคซีนจะเข้ามามากที่สุด ทำให้วัคซีนทำงานได้ดีขึ้น บวกกับระยะเวลาที่ใช้ในการคุมโควิดจะอยู่ที่ 3 เดือน ซึ่งไทยก็เข้าใกล้ช่วงดังกล่าวแล้ว” นายณัฐพล กล่าว

 

 

 

นายณัฐพล กล่าวว่า ทิศทางเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงที่ผ่านมามีเม็ดเงินไหลเข้ามาในหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวสูงมาก เนื่องจากไทยเป็นประเทศหลักในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ขณะนี้เนื่องจากภาคท่องเที่ยวไทยยังไม่ฟื้น และเศรษฐกิจไทยยังถูกกระทบจากโควิดอยู่ ทำให้ครึ่งปีหลัง คาดหวังแค่ให้เม็ดเงินไหลออกน้อยกว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมาก็พอ หลังจากช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ฟันด์โฟลว์ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท โดยหากประเมินในช่วงที่ผ่านมาพบว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องมาตลอดในช่วง 5 ปีย้อนหลัง ซึ่งถือเป็นการทุบทุกสถิติที่มีอยู่เดิม โดยขณะนี้เราหวังพึ่งพาเงินทุนในประเทศเป็นหลัก เพราะเม็ดเงินต่างชาติไหลออกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพิจารณาปริมาณเงินทุนในประเทศ ยังเชื่อว่าเพียงพอในการสนับสนุนตลาดหุ้นไทยได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง