รีเซต

ลอยกระทงปีนี้ ให้ 5 เทคโนโลยีช่วยกำจัดขยะในแม่น้ำ

ลอยกระทงปีนี้ ให้ 5 เทคโนโลยีช่วยกำจัดขยะในแม่น้ำ
TNN ช่อง16
27 พฤศจิกายน 2566 ( 09:59 )
43
ลอยกระทงปีนี้ ให้ 5 เทคโนโลยีช่วยกำจัดขยะในแม่น้ำ


ลอยกระทง ประเพณีไทยที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน เพื่อขอขมาพระแม่คงคา แต่รู้หรือไม่ว่าในแต่ละปีมีกระทงจำนวนมากถูกปล่อยลงแม่น้ำ โดยข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร รายงานว่าในปี 2022 จำนวนกระทงที่เก็บได้แค่เฉพาะในกรุงเทพมหานคร มีจำนวนมากถึง 572,602 ใบเลยทีเดียว


กระทงทั้งหลายเหล่านี้ แปรสภาพจากสิ่งสวยงามกลายเป็นขยะจนส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อม และอาจเป็นเรื่องยุ่งยากในการที่จะให้มนุษย์จัดการขยะ ดังนั้น TNN Tech จึงพามาชมเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ที่พัฒนามาเพื่อจัดการกับปัญหาขยะในแม่น้ำ แต่ทั้งนี้ถึงแม้เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ดี แต่เราทุกคนสามารถช่วยกันตั้งแต่ต้นน้ำ คือการลดการปล่อยขยะลงแม่น้ำ ซึ่งนั่นรวมถึงการลอยกระทงในแหล่งน้ำปิดที่ไม่ไกลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ



1. แทรชบูม (Trashboom)

แทรชบูม (Trashboom) เป็นเขื่อนขยะลอยน้ำ ทอดยาวข้ามแม่น้ำเพื่อดักจับขยะพลาสติกที่ไหลไปตามกระแสน้ำ ผลิตโดยบริษัทสัญชาติเวียดนาม เพื่อนบ้านในอาเซียนของเรานี่เอง ชื่อพลาสติก ฟิชเชอร์ (Plastic Fischer) 


เทคโนโลยีสร้างขึ้นเพื่อใช้ในท้องถิ่น เทคโนโลยีที่ใช้น้อย ต้นทุนต่ำ ส่วนประกอบมีส่วนที่ลอยเหนือน้ำ ซึ่งสร้างจากท่อพลาสติก ติดไว้กับลวดตาข่ายเพื่อดักจับขยะ ส่วนตาข่ายนี้ขยายลงไปใต้น้ำเพื่อดักจับขยะที่ลอยอยู่ใต้ผิวน้ำด้วย เนื่องจากมันเป็นแนวคิดที่เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นบริษัทจึงชี้แจงว่ามันสามารถขยายสเกลการใช้งานได้อย่างรวดเร็ว


ที่มารูปภาพ Plasticfischer


2. อินเตอร์เซ็ปเตอร์ (Interceptor)

อินเตอร์เซ็ปเตอร์ (Interceptor) สร้างโดยองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมแบบไม่แสวงหาผลกำไร สัญชาติเนเธอร์แลนด์อย่าง ดิ โอเชี่ยน คลีนอัป (The Ocean Cleanup) โดยมันใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ใช้แผงกั้นทอดยาวข้ามแม่น้ำเพื่อดักจับขยะพลาสติก แล้วขยะจะถูกลำเลียงไปยังโรงงานแปรรูปที่มีลักษณะคล้ายเรือท้องแบน หลังจากนั้นก็จะถูกลำเลียงต่อไปทิ้งลงในถังขยะ ซึ่งจะส่งสัญญาณไปยังระบบเมื่อขยะเต็ม เพื่อให้เรือมารับไปรีไซเคิลต่อ


ที่มารูปภาพ TheOceanCleanUp


3. บับเบิล แบร์ริเออร์ (Bubble Barrier)

บับเบิล แบร์ริเออร์ (Bubble Barrier) สร้างโดยบริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ เดอะ เกรท บับเบิล แบร์ริเออร์ (The Great Bubble Barrier) โดยวิธีการทำงานคือจะมีท่อที่มีรูพรุน วางแทยงลงไปในแม่น้ำ จากนั้นจะปล่อยลมออกจากท่อเพื่อผลักขยะขึ้นสู่ผิวน้ำ และผลักให้เข้าไปยังช่องเก็บขยะ มันทำงานตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับท่อของบับเบิล แบร์ริเออร์ จะครอบคลุมระยะความกว้างของแม่น้ำ แต่ไม่กีดขวางการเดินเรือหรือสัตว์ในแม่น้ำ 

ที่มารูปภาพ Reuters


4. มิสเตอร์ แทรช วีล (Mr. Trash Wheel)

มิสเตอร์ แทรช วีล (Mr. Trash Wheel) สร้างโดยบริษัทเคลียร์วอเตอร์ มิลลส์ (Clearwater Mills) และบริษัทวอเตอร์ฟรอนท์ พาร์ทเนอร์ชิป (Waterfront Partnership) ในรัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา มันจะมีลักษณะเป็นเรือที่มีล้อเป็นกังหันน้ำเพื่อใช้ในการขับเคลื่อน ทั้งยังมีแผงโซลาร์เซลล์สำหรับใช้พลังงานแสงอาทิตย์ช่วยขับเคลื่อนในวันที่กระแสน้ำไหลไม่แรงด้วย ส่วนดักจับขยะจะเป็นแผงกั้นลอย และจะลำเลียงไปยังส่วนกักเก็บขยะต่อไป


ที่มารูปภาพ Yahoo


5. โฟลทติ้ง บูม (Floating Boom)

โฟลทติ้ง บูม (Floating boom) สร้างโดยโครงการ “ทำความสะอาดขยะในทะเลยุโรปโดยการพัฒนาและประยุกต์นวัตกรรม” (Cleaning Litter by Developing and Applying Innovative Methods in European Seas หรือ CLAIM) ร่วมกับบริษัทนิว นาวาล (New Naval) โดยวิธีการทำงานคือจะใช้เทคโนโลยีที่นิว นาวาลพัฒนาขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาน้ำมันรั่วไหล แต่เอามาใช้จัดการขยะแทน ลักษณะเป็นแผงกั้นตาข่ายที่จะดักจับขยะ แล้วจะลำเลียงไปเก็บในกรงลอยน้ำ ก่อนที่จะยกขึ้นแล้วนำไปทิ้งนั่นเอง

ที่มารูปภาพ Oilspillresponse


ที่มาข้อมูล Greenbiz, Dezeen

ที่มารูปภาพ Designboom, Yovenice, Oilspillresponse, Thisiscolossal, Thainews, Pixabay

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง