นักศึกษาชาวอเมริกัน ประดิษฐ์ "ซีพียู" ขึ้นเอง ในโรงรถของคุณพ่อ !!
ไม่รู้ว่าทำไมจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์อะไรบางอย่างมักจะเกิดขึ้นในโรงรถ ล่าสุด Sam Zeloof นักศึกษาจากวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาได้สร้างชิปประมวลผลหรือ ซีพียู ในโรงรถที่บ้านของเขานั่นเอง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 หนุ่มน้อย Sam Zeloof อายุ 17 ปี ประสบความสำเร็จในการสร้างซีพียูตัวแรกใช้โค้ดเนม Z1 ภายในประกอบด้วยทรานซิสเตอร์จำนวน 6 หน่วยเท่านั้น (ชิ้นส่วนที่ควบคุมการไหลของกระแสไฟฟ้า คล้ายสวิตช์เปิดปิด ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในซีพียู) แม้จะมีจำนวนทรานซิสเตอร์น้อยมากเมื่อเทียบกับซีพียูในปัจจุบันที่มีเป็นจำนวนหลักพันล้าน แต่ก็นับว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สุดยอดของวัยรุ่นมัธยมปลายเลยล่ะ
หลังจากนั้น Sam ได้เข้าศึกษาในวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เขายังไม่ละทิ้งงานอดิเรกในการปะดิษฐ์์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จึงได้พัฒนาซีพียู Z2 ขึ้น โดยออกแบบโครงสร้างด้วยโปรแกรม Photoshop บนคอมพิวเตอร์ แล้วจัดการสร้างซีพียูนี้ขึ้นด้วยอุปกรณ์สุดไฮเทคในโรงรถจนสำเร็จ
สำหรับชิป Z2 จะประกอบด้วยทรานซิสเตอร์จำนวน 100 หน่วย ขนาด 10 ไมโครเมตรบนสถาปัตยกรรมแบบ Polysilicon gate ซึ่งเป็นการออกแบบที่เหมือนกับซีพียูตัวแรกของบริษัท Intel เมื่อปี 1970 ทั้งนี้ซีพียูของ Intel ซึ่งผลิตในโรงงานขนาดใหญ่ จะมีทรานซิสเตอร์จำนวนมากกว่าถึง 2,300 หน่วย
Sam เผยว่าซีพียู Z2 จะมีประสิทธิภาพสูงกว่า Z1 เนื่องจากสถาปัตยกรรมแบบ Polysilicon gate ช่วยลดการใช้พลังงานของชิปลงได้เยอะกว่า ทำให้เกิดความร้อนน้อยกว่า และสามารถเร่งความเร็วได้สูงกว่าด้วย ในกระบวนการผลิตทั้งหมดเขาทำซีพียูออกมา 15 ชิ้น โดยชิปที่ใช้งานได้คิดเป็น 80% ของทั้งหมดที่ผลิตออกมา ซึ่งในความเป็นจริงการผลิตซีพียูในโรงงานใหญ่มันก็มีทั้งชิปที่ทำงานได้บ้างไม่ได้บ้าง สำหรับ Sam ถือว่าควบคุมคุณภาพออกมาได้ค่อนดีเลยทีเดียว
แม้เครื่องมือที่ Sam ใช้ในการสร้างซีพียูอาจจะเป็นเครื่องมือที่มีราคาแพงและใช้เงินทุนสูง แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากไอเดียและความอยากที่จะสรรสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ หวังว่าเด็กไทยทุกคนจะนำเรื่องราวของ Sam ไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ด้วยจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ภายในรั้วบ้านของตนเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tom's Hardware