รีเซต

‘สุพัฒนพงษ์’ เชื่อศก.ปี 65 มีสัญญาณบวกดี หนุนเปิดประเทศเต็มสูบ ย้ำราคาพลังงาน-เงินเฟ้อไม่น่าห่วง

‘สุพัฒนพงษ์’ เชื่อศก.ปี 65 มีสัญญาณบวกดี หนุนเปิดประเทศเต็มสูบ ย้ำราคาพลังงาน-เงินเฟ้อไม่น่าห่วง
มติชน
23 กุมภาพันธ์ 2565 ( 14:03 )
51

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาและเปิดงานสัมมนา 2022 Next Economic Chapter : New Challenges And Opportunities เศรษฐกิจไทยปี 2565 ความท้าทายและโอกาสใหม่ จัดโดย IBusiness และธนาคารกรุงไทย ผ่านระบบออนไลน์ ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2565 เชื่อว่ามีสัญญาณบวกที่ดี น่าจะได้เห็นการดำเนินธุรกิจ และการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศไทยกลับมาเปิดประเทศอย่างสมบูรณ์และมีความผ่อนคลายมากขึ้น ผ่านรูปแบบเทสต์ แอนด์ โก ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติแสดงความสนใจเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นตามลำดับ ทำให้เกิดความมั่นใจว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาส่งเสริมรายได้ให้ประเทศไทย จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ซึ่งยืนยันว่าจะส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ และทยอยผ่อนคลายเกณฑ์การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ดีขึ้น โดยจะเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในอัตรา 3-4% ตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง

 

แม้ขณะนี้การระบาดโควิด-19 ยังไม่จบลง แต่รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมในระยะสั้นไว้แล้ว คือ จำนวนวัคซีนกว่า 90 ล้านโดส เพื่อใช้เป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ในกรณีที่ภูมิคุ้มกันลดลง หรือการระบาดโควิดมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และไม่เปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้เพิ่มเติม อาทิ โครงการคนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

 

“การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนในประเทศ เนื่องจากรัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องจำกัดการดำเนินธุรกิจ เพื่อควบคุมการระบาด ซึ่งต้องยอมรับว่า รัฐบาลได้พยายามทำเต็มที่แล้ว จนในที่สุดก็สามารถฉีดวัคซีนได้ในสัดส่วนที่เพียงพอ และเริ่มเปิดโครงการภูเก็ตแซนบ็อกซ์ ควบคู่กับการต่อสู้กับการระบาดโควิด-19 ซึ่งที่สุดแล้วก็สามารถประกาศเปิดประเทศได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ทำให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมทยอยดีขึ้นตามลำดับ และประชาชนก็ได้เฉลิมฉลองเทศกาลเคาต์ดาวน์ 2565 เป็นครั้งแรกในรอบ 24 เดือน โดยเห็นตัวเลขการลงทุนในปี 2564 มีผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่ากว่า 6.4 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงหรือดีกว่าค่าเฉลี่ยเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 เมื่อปี 2562 สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีอยู่” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

 

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับความห่วงใยในเรื่องการเป็นหนี้ ที่มีสัดส่วนสูง อาทิ หนี้ภาคประชาชน อาจมีปัญหาจนส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินได้นั้น หากเทียบกับปี 2563 พบว่าจำนวนผู้ที่มาขอลดการผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ตัวเลขจากเดือนกันยายน 2564 หายไป 50% ซึ่งถือว่าดี เนื่องจากเป็นหนี้ที่มีปัญหาลดลง แต่ก็ยังมีปริมาณมากอยู่ ทำให้กระบวนการในการปรับโครงสร้างหนี้ที่ธปท.และกระทรวงการคลัง ได้เอื้ออำนวยให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งคาดว่าอยู่ในระหว่างขั้นตอนที่ทำให้คลี่คลายลงได้มาก โดยความกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ในปี 2565 นายกได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน ที่รัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ภาคประชาชนในทุกส่วน อาทิ หนี้กยศ. หนี้ข้าราชการ หนี้สหกรณ์ ซึ่งจะกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป จึงอยากให้เกิดความมั่นใจ

 

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนของความกังวลที่หลายส่วนมีสูงมากคือ อัตราเงินเฟ้อ ทำให้สินค้าอุปโภคและบริโภคแพงขึ้นนั้น ตรงนี้ต้องแยกเป็นสองส่วนคือ 1.ส่วนของสินค้าต่างๆ ซึ่งรัฐบาลได้เข้าไปตรวจสอบและเข้มงวดกับการกักตุนสินค้า และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างดี ทำให้ราคาสินค้าหลายตัวในขณะนี้ลดลงมา และ 2.ส่วนของราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น เป็นที่ทราบกันดีว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาพลังงานแพงมาจากปัจจัยภายนอก ซึ่งส่วนนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ช่วงที่ผ่านมา มีการกดวัตถุดิบ (ซัพพลาย) ไว้ เนื่องจากความต้องการ (ดีมานด์) ไม่ได้ใช้ เมื่อการระบาดโควิด-19 ลดลง คนมีความมั่นใจในการอุปโภคและบริโภคมากขึ้น ส่งผลให้ดีมานด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปริมาณการผลิตที่รองรับกับปริมาณความต้องการใช้จึงเพิ่มขึ้นไม่ทัน ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับสากล แต่ในแง่ของรัฐบาลก็ยังใช้หลักการดูแลราคาพลังงานไม่ให้สูงเกินไป และรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจให้สามารถฟื้นฟูและเติบโตได้ ขณะเดียวกันราคาพลังงานในประเทศก็ต้องตรึงให้อยู่ในระดับที่สามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้

 

“การที่บอกว่าราคาน้ำมันในประเทศแพงมากที่สุดในโลก ตรงนี้ต้องบอกว่าต้องไม่เป็นความจริง เนื่องจากเรายังสามารถรักษาระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไว้ได้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศในแถบอาเซียน ที่มีสถานะของการเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงาน รวมถึงหากประเมินในเชิงภาพรวมอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนก็ไม่ได้ถือว่าสูงมากนัก โดยความท้าทายระยะสั้นที่แทรกเข้ามา จำเป็นต้องดูแลติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งก็หวังว่าเหตุการณ์จะไม่บานปลาย หากบานปลาย รัฐบาลก็ยังคงจะมีนโยบายดูแลเพื่อประคับประคองการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป แต่หากไม่บานปลายเชื่อมั่นว่า ไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ตามลำดับ หลายๆ เรื่องที่เอื้ออำนวยในการส่งเสริมเศรษฐกิจจะเริ่มขึ้น เพราะตอนนี้ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่จะทยอยเสร็จ โดยในปี 2565 มีรถไฟ 2 สายแล้วเสร็จ ถือเป็นโอกาสส่งเสริมการค้า และสภาพคล่องของธุรกิจมีมากขึ้น” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง