รีเซต

สหรัฐฯ เผยโฉมชุดดำน้ำลึกทหารแบบใหม่ สะดวกสบายปลอดภัยยิ่งขึ้น

สหรัฐฯ เผยโฉมชุดดำน้ำลึกทหารแบบใหม่ สะดวกสบายปลอดภัยยิ่งขึ้น
TNN ช่อง16
8 พฤษภาคม 2566 ( 04:47 )
93

กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ทดสอบชุดดำน้ำลึกแบบใหม่ หรือชุด DSEND (Deep Sea Expeditionary with No Decompression) ที่ทั้งเบาและยืดหยุ่น แต่ยังคงแรงดันรอบตัวผู้สวมใส่ให้อยู่ในระดับปกติ แม้จะอยู่ใต้น้ำลึก


การดำน้ำเป็นกีฬาที่สนุกและตื่นเต้น แต่การดำน้ำลึกในระดับ 50 เมตร ขึ้นไปนั้นมีความอันตรายสูงมาก เนื่องจากผู้ดำน้ำต้องเผชิญแรงดันมหาศาล และต้องใช้เครื่องมือดำน้ำที่ซับซ้อนและมีราคาแพง


ทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ดำน้ำลึก คือการใช้ระบบดำน้ำแบบก๊าซผสม ซึ่งไนโตรเจนในอากาศที่ใช้หายใจจะถูกแทนที่ด้วยฮีเลียมและไฮโดรเจน ขณะที่ระดับของออกซิเจนจะคงอยู่ในความเข้มข้นที่เพียงพอต่อการหายใจ การใส่ชุดนี้มีความยุ่งยาก และต้องใช้ก๊าซฮีเลียมและไฮโดรเจนจำนวนมหาศาลเพื่อจ่ายให้กับนักดำน้ำ พร้อมกับการใช้ระบบน้ำร้อนหมุนเวียนผ่านหัวจ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิในชุดลดต่ำลงจากก๊าซฮีเลียมและไฮโดรเจนที่มีอุณหภูมิต่ำจนนักดำน้ำอาจเสียชีวิตได้ 


นอกจากนี้ นักดำน้ำต้องอยู่ในห้องปรับความดันแบบพิเศษบนตัวเรือหลัก และย้ายลงไปที่ระดับความลึกที่ต้องการรวมทั้งกลับขึ้นมาบนผิวน้ำด้วยกระสวยดำน้ำแบบพิเศษ และหลังจากเสร็จสิ้นการทำงาน นักดำน้ำก็ยังต้องอยู่ในห้องปรับความดันเป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ เพื่อปรับสภาพร่างกายให้เข้ากับแรงดันอากาศปกติบนผิวน้ำ


อีกทางเลือกหนึ่งคือการสวมชุดเกราะดำน้ำ ที่ช่วยคงแรงดันให้นักดำน้ำสามารถอยู่ภายใต้ความดันระดับปกติตลอดการดำน้ำได้ แต่ชุดนี้เป็นชุดโลหะเนื่องจากต้องทนกับแรงดันในความ 183 เมตรที่มากกว่าปกติถึง 18 เท่า ชุดจึงต้องมีน้ำหนักมากจนต้องติดตั้งเครื่องขับดันไฟฟ้าเพื่อช่วยในการเคลื่อนที่ นอกจากนี้ยังต้องใช้เรือที่มีอุปกรณ์ยกของหนักและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือนักดำน้ำที่สวมใส่


ที่มาของรูปภาพ Naval History


โครงการ DSEND เกิดขึ้นมาเพื่อลบล้างข้อจำกัดต่าง ๆ เหล่านี้ โดยสร้างชุดดำน้ำลึกน้ำหนักเบาในความลึกที่ไม่เกิน 92 เมตร พร้อมติดตั้งระบบช่วยชีวิตเตรียมพร้อมไว้ ชุด DSEND แข็งแรงพอที่จะช่วยให้หลีกเลี่ยงอันตรายจากแรงดันน้ำในระดับความลึกเกือบ 100 เมตรได้ แต่ยังทำให้เคลื่อนไหวใต้น้ำ หรือแม้แต่ว่ายน้ำก็สามารถทำได้เช่นกัน

 หน่วยงานต่าง ๆ เช่น กองบัญชาการระบบนาวิกโยธิน (NAVSEA), ศูนย์การสงครามใต้ทะเลทางเรือ (NUWC) และ ศูนย์การสงครามผิวน้ำทางเรือ (NSWC) เป็นผู้ที่ร่วมกันพัฒนาชุด DSEND ขึ้นมา โดยใช้ข้อต่อ กริปเปอร์ และส่วนต่อของมือด้วยวัสดุแบบใหม่และสามารถปรับให้พอดีกับตัวนักดำน้ำได้ ขณะที่ข้อต่อถูกปรับให้คล้ายคลึงกับข้อต่อมนุษย์มากขึ้น ทำให้เคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้นกว่าชุดแบบเดิม 


ในการทดสอบเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่รัฐแมริแลนด์ และที่หน่วยทดสอบการดำน้ำของกองทัพเรือในรัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นการจำลองปฏิบัติการกู้ภัยและกู้ซากเครื่องบิน โดยใช้หุ่นจำลองแสดงเป็นผู้บาดเจ็บ ผลการทดสอบใช้ชุด DSEND ปรากฏว่า ชุดดังกล่าวทำให้การกู้ภัยมีความสะดวก และมีความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นมาก  


เจอริโช ดิเอโก (Jericho Diego) หัวหน้านาวิกโยธิน นักดำน้ำหลักและหัวหน้าทหารอาวุโสที่ NUWC Division Keyport กล่าวว่า "ระบบ DSEND มีศักยภาพที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับนักดำน้ำของกองทัพเรือ การลดขั้นตอนการคลายแรงดัน จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย และการมีระบบข้อต่อแขนที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ช่วยให้การทำงานใต้น้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น”


ที่มาของรูปภาพ DSEND Us Navy


ดร. แซนดรา แชปแมน (Dr. Sandra Chapman) เจ้าหน้าที่โครงการของ Office of Naval Research's (ONR) เผยว่า  "DSEND เป็นการพลิกโฉมของชุดดำน้ำลึกแบบใหม่อย่างแท้จริง เนื่องจากเป็นชุดที่สามารถคุมสภาพแวดล้อมได้ ซึ่งช่วยให้แรงดันภายในคงที่ ขณะที่นักดำน้ำที่สวมชุดดำน้ำตามปกติ ต้องดำลงไปด้วยแรงดันภายนอกที่เพิ่มขึ้น"  


ภายในปีหน้า ดร. แชปแมนตั้งเป้าจะยกระดับชุด DSEND ให้ดำน้ำได้ลึกกว่าเดิม และผู้สวมใส่สามารถทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังวางเป้าหมายในการทดสอบชุดในทะเล ที่เป็นสภาพแวดล้อมการทำงานจริงอีกด้วย


ที่มาของข้อมูล Newatlas

ที่มาของรูปภาพ US Navy


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง