น้ำท่วมภาคใต้ สถานพยาบาลได้รับผลกระทบ 6 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง
วันนี้ (17 ธันวาคม 2567) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ว่า ขณะนี้ยังมีปัญหาใน 4 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร และระนอง จากฝนตกหนักถึงหนักมาก ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นและมีน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ รวมถึงยังมีมวลน้ำจากเทือกเขาหลวงไหลหลาก จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยรอบวันที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากดินถล่ม 1 ราย ที่ จ.สุราษฎร์ธานี รวมเสียชีวิตสะสม 4 ราย บาดเจ็บ 4 ราย
สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 6 แห่ง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช โรงพยาบาลท่าศาลา และโรงพยาบาลพระพรหม, สุราษฎร์ธานี 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลท่าช้าง และชุมพร 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลหลังสวน และโรงพยาบาลสวี เปิดบริการได้ตามปกติ 5 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลพระพรหม โดยมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย 14 ราย ญาติ 14 ราย และเจ้าหน้าที่รวมประมาณ 40 รายไปยังโรงพยาบาลทุ่งสง
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า ส่วนการดูแลประชาชน มีการเปิดศูนย์พักพิง 4 แห่งที่ระนอง 1 แห่ง และชุมพร 3 แห่ง รองรับได้ 180 คน มีผู้เข้าพัก 48 คน จัดทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ดูแลประชาชน รวม 328 ราย แบ่งเป็น ตรวจรักษา 54 ราย ให้สุขศึกษา 114 ราย และเยี่ยมบ้าน 160 ราย ดูแลกลุ่มเปราะบางสะสม 20,110 ราย ได้แก่ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง 1,458 ราย ผู้พิการ 4,143 ราย หญิงตั้งครรภ์ 281 ราย ผู้สูงอายุ 10,117 ราย และอื่นๆ (จิตเวช/ฟอกไต) 4,111 ราย สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ ได้แก่ ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 926 ชุด และยารักษาน้ำกัดเท้า 3,006 หลอด
ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าภาคใต้ยังมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนล่างของภาค ช่วงวันที่ 16-22 ธันวาคม 2567 โดยให้เน้นการป้องกันสถานพยาบาลไม่ให้ได้รับผลกระทบ หากไม่สามารถให้บริการได้ ให้จัดจุดบริการทดแทนดูแลประชาชน พร้อมเฝ้าระวังโรคระบาด ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคอุจจาระร่วง โรคหัดและโรคไอกรน ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบการระบาดทั้งในพื้นที่และศูนย์พักพิง
ภาพจาก รัฐบาลไทย