รีเซต

AI in Your [Emotive] Area: ภาพฝัน ศรัทธา และใจประดิษฐ์

AI in Your [Emotive] Area: ภาพฝัน ศรัทธา และใจประดิษฐ์
Tech By True Digital
28 กันยายน 2565 ( 11:00 )
85
AI in Your [Emotive] Area: ภาพฝัน ศรัทธา และใจประดิษฐ์

ภาพประกอบบทความที่คุณเห็นอยู่นี้ มีภาพหนึ่งที่ไม่ได้สร้างขึ้นโดยมนุษย์ คุณเดาได้ไหมว่าเป็นภาพไหน

*มีเฉลยท้ายบทความ*

Tech By True Digital ครั้งนี้ เราจะพาไปสำรวจการทำงานของ AI ว่า นอกเหนือจากการทำงานที่เลียนแบบระดับการรับรู้และประมวลผลสติปัญญาแบบมนุษย์ (Cognitive Functions) แล้ว AI ยังถูกพัฒนาให้ก้าวเข้ามายังดินแดนของความรู้สึกนึกคิดหรืออารมณ์ (Emotive Area) ในแง่มุมใดที่เราอาจไม่เคยคาดคิดได้บ้าง 

 

Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์  เคยถูกมองว่าไม่สามารถเข้ามาทดแทนมิติที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิด หรืองานสร้างสรรค์ที่ต้องใช้ความสุนทรียภาพทางอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในวันนี้ คำกล่าวนี้อาจไม่เป็นจริงอีกต่อไป เมื่อเราได้เห็นการทำงานของ AI ที่เกี่ยวข้องกับสายงานที่ใช้ความรู้สึกนึกคิดมากขึ้น แม้กระทั่งภาพประกอบของบทความนี้ก็ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากโปรแกรมสร้างภาพศิลปะโดยปัญญาประดิษฐ์จากข้อความที่ถูกป้อนเข้าไป AI ในทุกวันนี้จึงมีอีกมิติที่เป็นมากกว่าเทคโนโลยีทรงพลังของอัลกอริธึม เป็นมากกว่ากลไกหลักของหุ่นยนต์ในภาคการผลิตและบริการ มากกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะในบ้าน มากกว่าการอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวันที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นส่วนหนึ่ง แต่ได้เข้ามาสู่ชีวิตของเราในมิติของอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ชีวิตจิตใจ และความศรัทธา



AI กับศาสนา

องค์กรทางศาสนาหลายองค์กรเริ่มใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่คำสอน เช่น แอปพลิเคชันที่ช่วยในเรื่องการอ่านคำสวดมนต์และตารางการสวดมนต์ประจำวัน หรือ หุ่นยนต์ Peppa ในญี่ปุ่นเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและพิธีศพ และล่าสุด AI ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อและความศรัทธาทางศาสนาในอีกระดับ เมื่อทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกียวโตได้สร้าง AI 'Buddhabot' ให้คนแชทคุยกับพระพุทธเจ้าผ่านมือถือได้ทุกที่ทุกเวลาเกี่ยวกับความกังวลในปัจจุบันและประเด็นทางสังคมต่าง ๆ 

 

ทีมนักวิจัยใช้อัลกอริธึมที่ชื่อว่า "BERT" ของ Google ในการพัฒนา Bhuddhabot โดยป้อนข้อมูลพระไตรปิฎกเข้าไปในระบบ โดยมีพระสุตตันตปิฎก ซึ่งเป็นคัมภีร์พุทธที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อันมีเนื้อหาประกอบด้วยพระวินัยปิฏก พระสุตตตันปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก หรือที่เรียกย่อว่า พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม เป็นเนื้อหาหลัก ที่ทำให้ AI 'Buddhabot' สามารถตอบได้ถึง 1,000 คำตอบ ซึ่งขึ้นอยู่กับเนื้อหาและข้อความคำปรึกษาของผู้ใช้งาน 

 

ทั้งนี้ เนื้อหาของคำตอบนั้นจะเหมือนกันโดยไม่เกี่ยวกับอายุหรือเพศของผู้ใช้ อาทิ "ฉันจะมีความสุขกับตัวเองในทุกวันได้อย่างไร เมื่อฉันไม่สามารถออกไปดื่มสังสรรค์ข้างนอกได้เพราะไวรัสโควิด-19" พระพุทธเจ้าใน AI 'Buddhabot' จะตอบว่า “การจะมีชีวิตที่สงบ สะอาดได้นั้น ต้องชำระตัวเองให้บริสุทธิ์ก่อน มีน้ำใจต่อกัน และใช้เวลากับคนที่สะอาดบริสุทธิ์เช่นกัน”

 

ผู้ใช้งานสามารถป้อนคำถามได้ทั้งทางข้อความและเสียง โดยพระพุทธเจ้าบนหน้าจอสมาร์ตโฟนก็จะตอบคำถามนั้น ๆ เหมือนได้สนทนากับพระพุทธเจ้าจริง ๆ ซึ่ง AI 'Buddhabot' เป็นการผสมผสานเทคโนโลยี AI ผ่านระบบการสนทนา และเทคโนโลยี AR ผ่านฟังก์ชันกล้อง ที่ทำให้ในขณะที่ใช้งาน ผู้ใช้จะเห็นภาพของพระพุทธเจ้าลอยอยู่บนพื้นหลังที่เป็นสถานที่จริงที่ผู้ใช้งานอยู่ ณ ขณะนั้น 

 

สนทนากับพระพุทธเจ้าผ่าน 'Buddhabot' โดยมีพระพุทธเจ้าลอยอยู่บนสถานที่ผู้ใช้งานอยู่ ณ ขณะนั้น 

ที่มา: https://mainichi.jp/

 

ปัจจุบัน AI 'Buddhabot' เปิดให้ใช้บริการในโอกาสพิเศษเท่านั้น เนื่องจากการใช้ AI ในมิติศาสนาอาจยังเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว ทีมวิจัยจึงวางแผนจะเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อพัฒนาเวอร์ชันที่สมบูรณ์ที่สุด และสามารถสร้างความเข้าใจให้กับสังคมเกี่ยวกับการใช้รูปพระพุทธเจ้าแบบ AR ใน AI 'Buddhabot' ได้ดีแล้วเสียก่อน โดยทีมนักวิจัยมองว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนา AI 'Buddhabot' นั้นก็เพื่อช่วยเรื่องวิกฤติการเข้าถึงศาสนาพุทธที่ลดลงจากปริมาณการเข้าวัดของคนญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันยังเป็นที่พึ่งของผู้คนในปัจจุบันที่มีความวิตกกังวลและความเครียดเพิ่มมากขึ้นท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 หรือวิกฤติอื่น ๆ ของสังคมโลก ด้วยการเป็นแพลตฟอร์มในการตอบคำถามเกี่ยวกับความกังวลโดยอัตโนมัติจากมุมมองทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการผสมผสาน ความศรัทธา เข้ากับเทคโนโลยี AI และ Metaverse ด้วย

 

AI กับศิลปะ

เดิมทีนั้นงานศิลปะถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของงานที่เทคโนโลยียังไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้ เนื่องจากเป็นงานจำเพาะที่ต้องใช้อารมณ์ ความรู้สึก ความชำนาญและความเป็นเอกลักษณ์ในการถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานชิ้นหนึ่ง แต่การมาถึงของแพลตฟอร์มที่พัฒนาโปรแกรมสร้างภาพศิลปะโดยปัญญาประดิษฐ์จากข้อความหรือที่เรียกว่า AI Art อาทิ Midjourney ของ Leap Motion, DALL-E ของ OpenAI และ Imagen ของ Google ก็สั่นสะเทือนวงการศิลปะไม่น้อย เพราะแม้แต่คนที่ไม่มีความสามารถในการวาดภาพเลย ก็สามารถมีผลงานศิลปะเป็นของตัวเองได้ และยังเป็นภาพที่เหมือนศิลปินมารังสรรค์เอง บางโปรแกรมมีความละเอียดของฝีแปรงเหมือนคนวาดภาพขึ้นมาเองจริง ๆ โดยแยกออกได้ยากว่าเป็นฝีมือของคนหรือ AI

 

ตัวอย่างการทดลองสร้างภาพศิลปะโดยAIและมนุษย์ 

จากชุดคำสั่งเดียวกัน คือ Teddy Bears + Shopping for groceries + as a one-line drawing 

ที่มา: http://openai.com/dall-e-2/

 

AI Art ทำงานโดยใช้เทคโนโลยี Text-to-Image Generator ที่ให้ AI เรียนรู้จากชุดข้อมูลรูปภาพจำนวนมหาศาลที่ถูกป้อนเข้าไปให้ AI ฝึกฝน โดยประมวลผลว่าในภาพนั้นมีอะไรบ้าง ออกแบบในสไตล์ไหน โดยจะมีข้อความหรือคำอธิบายของรูปนั้น ๆ เพื่อให้ Machine Learning เรียนรู้จากชุดข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าไป จากนั้นเมื่อมีผู้ใช้งานที่ต้องการภาพศิลปะ เข้าไปยังแพลตฟอร์ม AI Art แล้วพิมพ์ข้อความหรือคีย์เวิร์ดที่อยากให้มีในภาพ หรือบรีฟว่าต้องการให้ภาพออกมาเป็นอย่างไร เป็นสไตล์แบบไหน AI ก็จะสร้างภาพออกมาจากชุดข้อมูลที่ถูกเรียนรู้ ออกมาเป็นตัวเลือกงานศิลปะให้ผู้ใช้งานเลือกใช้ หรือปรับแต่งจนเป็นที่พอใจ

 

ภาพ ‘Portrait of Edmond de Belamy’ งานศิลปะโดยปัญญาประดิษฐ์ ที่มีการประมูลขายด้วยมูลค่ากว่า 432,000 เหรียญสหรัฐ หรือ ราว 15 ล้านบาท โดยบริษัทประมูล Christie's 

ที่มา: https://www.bbc.com/

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า AI Art จะสามารถรังสรรค์ผลงานศิลปะออกมาได้ ชนิดที่ว่ามีคนสามารถนำไปทำเงินได้จริง ก็ยังมีข้อถกเถียงที่ผู้พัฒนาโปรแกรมเหล่านี้ต้องออกมาตอบคำถามและแสดงจุดยืน รวมถึงวางแผนในอนาคตของการมีอยู่ของ AI Art ในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น ลิขสิทธิ์ของภาพวาด เนื่องจาก AI Art คือการนำผลงานศิลปะของศิลปินหลาย ๆ ภาพที่มีลิขสิทธิ์ไปเป็นภาพต้นแบบในการพัฒนา ดังนั้นภาพ AI Art ที่ถูกออกแบบมาจากโปรแกรมเหล่านี้จึงมีความผสมผสานของภาพที่มีลิขสิทธิ์อยู่ ในขณะเดียวกันสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปินเหล่านั้นก็ปรากฏอยู่ใน AI Art ได้อย่างง่ายดาย เผลอ ๆ อาจมีกลิ่นอายของภาพต้นฉบับราวกับว่าเป็นผลงานของศิลปินผู้นั้นเสียเอง 

 

ในกรณีเช่นนี้ AI Art จะถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้หรือไม่ ความเป็นเอกลักษณ์ที่แท้จะถูกนิยามอย่างไรในเมื่อศิลปิน AI Art ก็อาจกล่าวได้ว่าศิลปะเหล่านี้เกิดจากการป้อนข้อความของเขาไม่ได้ลอกใครมา สไตล์ที่ติดมาจากภาพต้นฉบับถือเป็นของใคร รวมถึงการนำไปใช้ให้ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือการสร้างสรรค์ผลงานออกมาจากชุดข้อมูลที่อาจเกิดความอ่อนไหวต่อสังคมในประเด็นต่าง ๆ เป็นต้น โดยล่าสุด Getty Image ก็ออกมาประกาศห้ามขายภาพศิลปะที่วาดโดย AI บนแพลตฟอร์มแล้วเนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลต่อการนำภาพไปใช้ได้ อนาคตของ AI Art จึงไม่ควรถูกมองข้ามว่าเป็นเพียงเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาเพื่อความสนุกสนานในการสร้างสรรค์ศิลปะเพียงชั่วครั้งคราว หากจำเป็นต้องมีการตั้งมาตรฐานให้กับเทคโนโลยีประเภทนี้   

 

AI กับการแต่งเพลง

ไม่ต่างจากการทำงานของ AI Art ที่ใช้วิธีการป้อนข้อมูลจำนวนมหาศาลเกี่ยวกับเพลงและดนตรีเข้าไปเพื่อให้ AI ฝึกฝนและเรียนรู้ เพื่อให้มีความสามารถในการแต่งเพลงความยาวตั้งแต่ท่อนเดียวไปจนจบเพลง โดยที่ผู้ใช้งานเลือกแนวเพลงที่ต้องการ สไตล์ดนตรี ความเร็วของเพลง หรือแม้แค่เพียงฮัมจังหวะที่ต้องการ AI ก็จะรังสรรค์เพลงออกมาให้ทันที  หรือแม้แต่การจำลองการแต่งเพลงของศิลปินที่มีชื่อเสียง ด้วยการป้อนข้อมูลเพลงของศิลปินเข้าไปเพื่อให้ Machine Learning เรียนรู้ว่าศิลปินคนไหนมีสไตล์การแต่งเพลงแบบไหน จากนั้นลองจับคู่ความต้องการของผู้ใช้งานและศิลปินเพื่อให้ออกมาเป็นเพลงใหม่ในสไตล์ของศิลปินคนนี้  

 

ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มชื่อ Mubert ที่ขายแนวทางการทำเพลงจาก AI ว่า ‘เป็นการฟังเพลงแห่งอนาคต’ ด้วยการให้ผู้ใช้งาน บอกอารมณ์ ณ เวลานั้นหรือกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ จากนั้นจึงป้อนคำสั่งให้ AI สร้างเพลงใหม่ขึ้นมาเป็น Playlist ที่เหมาะกับอารมณ์ในเวลานั้น โดยที่ยังมีการสร้างเพลงใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ จากการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจากความชอบของผู้ฟังว่าเพลง ดนตรี หรือสไตล์แบบไหนที่น่าจะเป็นเพลงใหม่ ๆ ที่ผู้ฟังน่าจะชอบ 

 

Mubert สร้างสรรค์เพลงจาก AI ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถนำไปเป็นเพลงประกอบผลงานศิลปะ NFT ได้ 

ที่มา: https://www.facebook.com/mubertapp



AI กับเสียงในใจ

ปัญหาสุขภาพกาย อาจถูกตรวจพบได้ด้วยเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยหลากหลายชนิดตั้งแต่ปรอทวัดไข้ ไปจนถึงเครื่อง MRI แต่สำหรับสุขภาพใจแล้วนั้น บุคลากรด้านจิตวิทยายังคงใช้ ‘การฟัง’ เป็นเครื่องมือสำคัญ ทั้งฟังสิ่งที่ผู้เข้ารับการปรึกษาพูดและฟังวิธีที่พวกเขาพูดระหว่างการสนทนา เพื่อประเมินปัญหาทางสุขภาพจิต เพราะบ่อยครั้งที่ผู้เข้ารับการปรึกษาอาจไม่ได้พูดทุกสิ่งที่เป็นปัญหาของตัวเองจริง ๆ วิธีการพูดและน้ำเสียงจะช่วยบ่งบอกสภาพจิตใจและสุขภาพจิตได้เป็นอย่างดี อาทิ คำพูดของผู้ที่กำลังรู้สึกหดหู่หรือเข้าข่ายภาวะซึมเศร้าโดยทั่วไปมักจะเป็นเสียงโมโนโทน ราบเรียบ บางครั้งนุ่มนวล และมีช่วงระดับเสียงที่เบาและระดับเสียงที่ต่ำกว่าปกติ ในการสนทนาจะมีการหยุดมากขึ้นและหยุดบ่อยครั้ง ในขณะที่ผู้ที่มีภาวะวิตกกังวล มักจะพูดเร็วและมีการหายใจไม่ทัน เป็นต้น

 

ด้วยเหตุนี้ จึงเริ่มมีการนำ AI มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์น้ำเสียงที่สามารถทำได้นอกเหนือจากแปลความหมาย โดยบริษัทสตาร์ทอัปเกี่ยวกับสุขภาพจิต อย่าง Kintsugi Mindful Wellness ได้พัฒนา Kintsugi’s AI ซึ่งเป็น Voice Biomarker วิเคราะห์น้ำเสียงมนุษย์เพื่อตรวจหาภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล เพื่อเป็นตัวช่วยให้แพทย์ประเมินอาการควบคู่ไปกับการประเมินด้านกายภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสภาวะทางจิตใจ เช่น ประเมินการนอนหลับ หรือการใช้โซเชียลมีเดีย อีกด้วย 

 

ตัวอย่างน้ำเสียงจากคำพูดที่ AI สามารถตรวจจับสุขภาพจิตได้ บนเว็บไซต์ Kintsugi

ที่มา: https://www.kintsugihealth.com/

 

Kintsugi’s AI ถูกพัฒนาโดยอ้างอิงการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า รูปแบบและลักษณะทางภาษาบางอย่างในเสียงของบุคคลสัมพันธ์กับสภาวะทางจิตเวชหรือทางระบบประสาท ด้วยการป้อนข้อมูลสัญญาณเสียง โทนเสียง กระทั่งการหายใจระหว่างการออกเสียง เพื่อช่วยในการประเมินสุขภาพจิต อาทิ ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล โรคจิตเภทบางอาการ และโรค PTSD หรือโรคที่เกิดจากสภาวะจิตใจของผู้ป่วยได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์เลวร้าย ซึ่ง Machine Learning ของ Kintsugi’s AI นั้นมีศักยภาพที่จะสามารถรับคุณสมบัติเสียงที่หูมนุษย์อาจจะพลาดไปได้จากบทสนทนาได้เป็นอย่างดี  

 

Kintsugi’s AI ใช้เวลาเพียง 20 วินาทีในการประเมินจากน้ำเสียงของผู้เข้ารับการปรึกษา โดยประเมินออกมาเป็นคะแนนของแบบประเมินภาวะซึมเศร้า (PHQ-9) และ แบบวัดความวิตกกังวล (GAD-7) ซึ่งเป็นแบบทดสอบชนิดเดียวกับที่ใช้ในการทดสอบผู้เข้ารับคำปรึกษาแบบตัวต่อตัว เพื่อให้บุคลากรด้านจิตวิทยาใช้ในการประเมินร่วมว่าผู้เข้ารับการปรึกษาควรทำแบบทดสอบด้วยตัวเองเพิ่มเติมอีกหรือไม่ และควรส่งต่อไปยังการรักษาประเภทใดที่จะเหมาะสมที่สุด ซึ่งถือเป็นการให้คำแนะนำเชิงรุกเกี่ยวกับการบรรเทาอาการของผู้เข้ารับการปรึกษา และแม้ว่า Kintsugi’s AI จะไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแทนที่แพทย์หรือการประเมินทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ แต่ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือช่วยคัดกรอง เพื่อช่วยสร้างมุมมองแบบ 360 องศาให้กับบุคลากรด้านจิตวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเข้ารับการปรึกษาทางจิตวิทยาในปัจจุบันนี้เปลี่ยนไปในรูปแบบทางไกล (Telemedicine) ที่การเห็นหน้าค่าตาเพื่ออ่านความรู้สึกอาจเป็นข้อจำกัด

 

อย่างไรก็ตาม การใช้ AI เพื่อรับความรู้สึกจากเสียงเพื่อวิเคราะห์สภาพจิตใจของมนุษย์นั้นแม้จะเป็นตัวช่วยสำคัญ แต่ยังมีโจทย์ใหญ่ในเรื่องอคติจากความเชื่อมั่นในความแม่นยำของ AI ในการประเมินสุขภาพจิตและการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเสียงที่เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องก้าวผ่านให้ได้ในอนาคต

 

ตัวอย่างเหล่านี้เผยให้เห็นถึงแง่มุมที่ AI เริ่มเข้ามามีบทบาทในมิติด้านอารมณ์และความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น จากที่เคยเชี่ยวชาญอยู่ในมุมของของสติปัญญาและการเรียนรู้ ซึ่งอาจทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือแทนที่งานที่ตนเองเคยเชี่ยวชาญอยู่หรือไม่ หรือตั้งคำถามว่าเราเองจะอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีอย่างสมดุลได้อย่างไร ทักษะที่ตนเองเคยมีอยู่หากถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีอาจเป็นโอกาสที่ดีให้เราได้เพิ่มเติมทักษะอย่างอื่นที่ช่วยปลดล็อกศักยภาพของตนเอง และได้ทำงานที่มีความหมายมากขึ้นและได้มีชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่ ที่สุดแล้วแม้เทคโนโลยีจะคืบคลานเข้ามาในมิติอันหลากหลายของชีวิต แต่ไม่อาจแทนที่ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะอย่างไรก็ตาม อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ชีวิตจิตใจ และความศรัทธาก็ยังเป็นตัวตนที่แท้จริงของเราอยู่เสมอ 

 

*เฉลย* ภาพประกอบบทความบนสุด ภาพที่ 1 ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยมนุษย์ ส่วนภาพที่ 2 ถูกสร้างโดย AI ผ่านแพลตฟอร์ม Dall-E  ซึ่งมาจากชุดคำสั่งเดียวกันคือ a bowl of soup + as a planet in the universe + as digital art 

 

----------------------------------



อ้างอิง:

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง