รีเซต

หูฟังตัดเสียงรบกวนพลัง AI แบบใหม่ เลือกตัดเสียงเฉพาะสิ่งที่ไม่อยากฟังออกไปได้

หูฟังตัดเสียงรบกวนพลัง AI แบบใหม่ เลือกตัดเสียงเฉพาะสิ่งที่ไม่อยากฟังออกไปได้
TNN ช่อง16
19 พฤษภาคม 2567 ( 10:19 )
21
หูฟังตัดเสียงรบกวนพลัง AI แบบใหม่ เลือกตัดเสียงเฉพาะสิ่งที่ไม่อยากฟังออกไปได้

หูฟังในปัจจุบันมีระบบตัดเสียงรบกวน (Noise Canceling) ที่ช่วยทำให้เสียงรบกวนต่าง ๆ เบาลง แต่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) ในสหรัฐอเมริกา ได้สร้างระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถจำแนกประเภทของเสียงรบกวน และเปิดให้ผู้ใช้หูฟัง เลือกตัดเสียงรบกวนเฉพาะอย่างได้



กระบวนการตัดเสียงรบกวนแยกประเภทด้วย AI

หูฟังดังกล่าวเป็นผลงานวิจัยที่สาธิตการทำงานระบบ AI โดยการดัดแปลงหูฟังแบบครอบหัว (Headphone) เชื่อมต่อกับระบบ AI ผ่านบอร์ดวงจรคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเพื่อเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน โดยการใช้งานผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะตัดเสียงรบกวนใด และปล่อยให้เสียงแบบใดเข้าหูฟังได้ ซึ่งมีกว่า 20 รูปแบบ เช่น เสียงเคาะประตู เสียงนก เสียงสุนัข และเสียงไซเรน เป็นต้น 


ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากการพัฒนาระบบ AI ขั้นสูงที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ เริ่มตั้งแต่การออกแบบให้ AI เรียนรู้เสียงที่ต้องการให้จดจำได้ ก่อนที่จะสร้างสถานการณ์สภาพแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อจำแนกเสียงเป้าหมายกับเสียงที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากกัน 


และขั้นตอนที่ท้าทายที่สุด คือการทำให้ AI สามารถปล่อยเสียงเป้าหมายไปยังหูฟังโดยไม่ขัดกับสิ่งที่ผู้ฟังมองเห็นหรือสัมผัส เช่น เสียงเคาะประตูไม่ควรดังหลังจากที่มือกระทบประตูไปแล้ว


ทั้งนี้ ผลการทดสอบฟังด้วยหูฟังแบบใหม่เป็นเวลารวม 420 นาที จากอาสาสมัครทดลองจำนวน 21 คน ระบุว่าเสียงที่ผ่านการประมวลผลมีคุณภาพเสียงในระดับปานกลาง แต่ยังคงมีปัญหาในบางสถานการณ์ที่ทำให้เสียงที่ออกมาคุณภาพไม่ดี เพราะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นเสียงร้อง เสียงพูด หรือเสียงพื้นหลัง


อนาคตของหูฟังตัดเสียงรบกวนแยกประเภทด้วย AI

แต่ผลการทดสอบทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อบ่งชี้ว่าระบบตัดเสียงรบกวนแบบใหม่มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคต เพราะการตัดเสียงรบกวนไม่ได้เป็นแค่เรื่องของสุนทรียภาพ แต่ยังเป็นเรื่องของความปลอดภัยด้วย เช่น การตัดเสียงรบกวนจากการทำงานกับเครื่องมืออุตสาหกรรม ถ้าสามารถเสริมระบบใหม่ที่ทำให้ได้ยินเสียงเพื่อนร่วมงาน หรือเสียงสัญญาณเตือน ก็จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยได้ด้วยเช่นกัน


โดยงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่เป็นส่วนหนึ่งงานประชุมวิชาการ ว่าด้วยเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์สำหรับโต้ตอบกับผู้ใช้ของสมาคมคอมพิวเตอร์เอซีเอ็ม (Association for Computing Machinery: ACM - The ACM Symposium on UIST) ในปี 2023 แต่มีการนำเสนอในอินเทอร์เรสติง เอ็นจิเนียริง (Interesting Engineering) สื่อด้านเทคโนโลยีชื่อดังเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา




ข้อมูลจาก Interesting Engineering

ภาพจาก University of Washington


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง