รีเซต

เปิดเบื้องลึก "iPhone" ยากถอนฐานผลิตจากจีน l การตลาดเงินล้าน

เปิดเบื้องลึก "iPhone" ยากถอนฐานผลิตจากจีน l การตลาดเงินล้าน
TNN ช่อง16
1 พฤษภาคม 2568 ( 13:02 )
7

สื่อไฟแนนเชียล ไทม์ รายงานว่า แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องการให้การผลิต ไอโฟน กลับไปที่อเมริกา แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับเป็นไปได้ยาก อย่างยิ่ง สาเหตุไม่ใช่แค่เรื่องแรงงานราคาถูก แต่ปัญหาหลัก คือ การย้ายห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่ซับซ้อน และถูกสร้างมานานหลายทศวรรษเพื่อรองรับการดำเนินงานของ แอปเปิล ในจีน ทำได้ยาก แอนดี้ เซย์ (Andy Tsay) ศาสตราจารย์ด้านระบบสารสนเทศ จากวิทยาลัยธุรกิจ ลีเวย์ (Leavey Business School) ของมหาวิทยาลัย ซานตา คลาร่า (Santa Clara University) กล่าวว่า ในช่วงแรก บริษัทต่าง ๆ ย้ายไปจีน เพราะมีต้นทุนราคาถูก แต่ปัจจุบัน บริษัทเหล่านั้นยังคงอยู่ในจีน และติดอยู่ในจีน ไม่ใช่เพราะต้นทุนแรงงานที่ต่ำอีกต่อไปแล้ว และไม่ว่าจะดีหรือร้าย จีนก็ยังเป็นประเทศที่รวดเร็ว ยืดหยุด และมีมาตรฐานระดับโลก

บทความดังกล่าว ระบุว่า ไอโฟน เป็นอุปกรณ์สำหรับผู้บริโภคที่ประสบความสำเร็จสูงสุดตลอดกาล มียอดขายประมาณ 2,800 ล้านเครื่อง นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2550  และตลอด 15 ปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ให้กับ แอปเปิล ไปแล้วมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้ง ปัจจุบัน ยอดขายของไอโฟน ยังมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งหมดของบริษัทฯ อีกด้วย 

แต่ส่วนประกอบของ ไอโฟน รุ่นใหม่ มีความซับซ้อน ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนที่แตกต่างกันประมาณ 2,700 ชิ้น ซึ่งมาจากซัพพลายเออร์จำนวนถึง 187 ราย จาก 28 ประเทศ

ตามข้อมูลของ อินเตอร์เนชันแนล ดาต้า คอร์ปอเรชัน (ไอดีซี) พบว่า ส่วนประกอบของไอโฟนที่ผลิตในสหรัฐอเมริกานั้น มีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 5 ที่เหลือส่วนใหญ่ มีการผลิตในจีน แต่ส่วนประกอบไฮเทคส่วนใหญ่ ผลิตในไต้หวัน และส่วนประกอบสำคัญอื่นๆ อีกเล็กน้อยที่ผลิตในเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น 

โดยกระบวนการผลิต 3 ส่วนนี้ ทำให้เห็นว่าการย้ายฐานการผลิตไปยังสหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องที่ยาก เช่น กระจกหน้าจอ ของ ไอโฟน ผลิตในสหรัฐฯ แต่ชิ้นส่วนที่ทำให้เป็นหน้าจอสัมผัส ตั้งแต่แผงไฟพื้นหลัง ไปจนถึงชั้นที่ทำให้เป็นระบบสัมผัส ส่วนใหญ่ผลิตในเกาหลีใต้ และจากนั้น ถูกนำไปประกอบในจีน

กรอบที่ทำจากอลูมิเนียมชิ้นเดียวของ ไอโฟน บล็อกโลหะถูกตัดและขั้นรูปด้วยเครื่องจักรเฉพาะทาง ที่มีเฉพาะในจีนเท่านั้น

ส่วนสกรูขนาดเล็ก 74 ตัวที่ยึดไอโฟนเข้าด้วยกันผลิตในจีน และอินเดียเป็นหลัก และการจะเข้ารูปหรือขันสกรู ก็ทำด้วยมือจากแรงงานมนุษย์ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า มีต้นทุนถูกกว่าการลงทุนในเครื่องจักรอัตโนมัติ

ด้วยห่วงโซ่อุปทานจากทั่วโลก ของแอปเปิล ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของเครือข่ายที่ซับซ้อน ซึ่งครอบงำเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน และจะไม่สามารถหลุดพ้นไปได้ง่ายด้วยนโยบายภาษีศุลกากร

แม้ว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แรงดึงดูดหลักในจีนที่มีต่อบริษัทเทคโนโลยีอย่าง แอปเปิล อาจจะเป็นเพราะแรงงานราคาถูก และปัจจุบันก็ยังเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับตลาดแรงงานในสหรัฐฯ แต่ห่วงโซ่อุปทานของ ไอโฟน ที่ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสำหรับส่วนประกอบแต่ละชิ้นที่สร้างขึ้นจากเกือบ 10 ประเทศทั่วเอเชีย ขณะนี้ ยังคงยึดโยงกับกลุ่มซัพพลายเออร์ในจีน

นั่นทำให้ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การจะถอนรากถอนโคน จะไม่สามารถทำได้จริงภายในช่วงเวลาที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งอยู่ได้ 

สอดคล้องกับ รายงานของบริษัทวิจัย เทคอินไซต์ (TechInsights) ที่มองว่า แอปเปิล ไม่น่าจะย้ายการประกอบ ไอโฟน ไปสหรัฐอเมริกา เพราะห่วงโซ่อุปทานของสมาร์ตโฟนได้ฝังรากลึกลงในจีน ที่มีความพร้อมด้านบุคลากรทั้งวิศวกรที่มีทักษะ และแรงงานประกอบ จำนวนมาก

ซึ่ง แอปเปิล จัดส่งไอโฟน มากกว่า 230 ล้านเครื่องต่อปี นั่นเทียบเท่ากับการผลิต จำนวน 438 เครื่องต่อนาท และจากความสามารถของบริษัทในการผลิตจำนวนมากด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ทำให้ ไอโฟน 16 โปร ความจุ 256 กิ๊กกะไบต์ จะมีกำไรอยู่ที่ประมาณ 400 ดอลลาร์ หรือประมาณร้อยละ 36 

ส่วน ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ของไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้ประกอบ ไอโฟน ส่วนใหญ่ที่จำหน่ายทั่วโลก ก็มีส่วนสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนนี้ด้วย จากการขยายและย้ายสายการผลิตตามความต้องการของ แอปเปิล เอง โดยเริ่มจากโรงงานในเมืองเซิ่นเจิ้นทางตอนใต้ของจีน จากนั้นก็ไปยังเมืองอื่น ๆ อีกหลายสิบแห่งในประเทศจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปัจจุบันก็ขยายไปยังอินเดีย ด้วยแล้ว

โดยเมื่อปี 2553 ฟ็อกซ์คอนน์ ลงทุนกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสร้าง ไอโฟน ซิตี้ (iPhone City) ที่เมืองเจิ้งโจว ในประเทศจีน เป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่ผลิตไอโฟนประมาณร้อยละ 50 ของทั้งโลก ภายใต้เงินอุดหนุน การลดภาษี และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนการก่อสร้าง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจาก มอร์แกน สแตนเลย์ ให้ข้อมูลว่า งบประมาณนี้ เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการก่อสร้างโรงงานเท่านั้น ยังไม่นับรวมค่าดำเนินการ ค่าจ้างพนักงาน และในช่วงที่ผลิตเต็มกำลัง โรงงานแห่งนี้จะมีพนักงานมากขึ้น 350,000 คน

แต่ ฟ็อกซ์คอนน์ และบริษัทประกอบชิ้นส่วนรายเล็ก เช่น เพกาตรอน จากไต้หวัน และ ลักซ์แชร์ จากจีน มีหน้าที่เพียงแค่ประกอบชิ้นส่วนเท่านั้น โดยเป็นชิ้นส่วน ที่ผลิตโดยบริษัทอื่น ๆ ที่มีกว่า 100 แห่ง เนื่องจาก ส่วนประกอบทั้งหมด ตั้งแต่เลนส์กล้อง และสารเคลือบ ไปจนถึงแผงวงจรพิมพ์และวัสดุรองรับ ที่ช่วยให้ ไอโฟน แข็งแรง ถูกผลิตขึ้นจากโรงงานที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ซึ่งปัจจุบัน ไอโฟนส่วนใหญ่ หรือประมาณร้อยละ 85 ยังคงประกอบในจีน และส่วนที่เหลือผลิตในอินเดีย

ด้าน ศาสตราจารย์ เซย์ จากวิทยาลัยธุรกิจ ลีเวย์ กล่าวด้วยว่า ความใกล้ชิดกันของซัพพลายเออร์ และผู้ผลิต ถือเป็นส่วนสำคัญของประสิทธิภาพการทำงานของ แอปเปิล การที่ห่วงโซ่อุปทานตั้งอยู่ใกล้กัน มีข้อดีหลายอย่าง เช่น ช่วยให้สื่อสารกันได้รวดเร็ว มีคุณภาพที่ดีขึ้น และช่วยส่งเสริมนวัตกรรมในการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต และยังหมายถึงว่า จะช่วยให้การส่งมอบสินค้าเป็นไปอย่างวดเร็ว แต่หากตั้งอยู่ห่างไกลกันมาก จะทำให้แอปเปิลสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านนี้ไป

เช่นเดียวกับ มุมมองของ วัมซี โมฮัน (Wamsi Mohan) จากแบงก์ ออฟ อเมริกา ที่กล่าวว่า หากมีการย้ายไปอเมริกา จะส่งผลต่อประสิทธิภาพให้ลดลง เพราะหากการผลิตทุกอย่างไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ก็จะตามมาด้วยความยุ่งยากอีกมากมาย

หรือแม้ว่า แอปเปิล จะสามารถหาผู้ผลิตมาทดแทนชิ้นส่วน ไอโฟน บางอย่างได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า การผลิตบางอย่าง เช่น ชิป ที่ผลิตในไต้หวันและเกาหลีใต้ ยังไม่มีใครสามารถทดแทนได้อย่างเท่าเทียมกัน

ดังนั้น หากจะต้องย้ายฐานการผลิตไปยังสหรัฐ ก็จะต้องใช้เวลาอีกหลายปี หรือหลายทศวรรษในการลงทุนด้านระบบอัตโนมัติ เครื่องมือ โครงสร้างพื้นฐาน และการฝึกอบรมร่วมกัน 

ยังมีเรื่องของ ธาตุหายาก ซึ่งอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ต้องพึ่งพาธาตุหายาก อย่างเช่น แลนทานัม (Lanthanum) เป็นโลหะหายากที่ใช้ในแบตเตอรี่ของ ไอโฟน เพื่อยืดอายุการใช้งาน รวมถึงใช้ในหน้าจอเพื่อเพิ่มสีสัน และ ดิสโพรเซียม (Dysprosium) ใช้ในหน้าจอสีของ ไอโฟน รวมถึงฟังก์ชันการสั่นสะเทือน

เหล่านี้ มีความจำเป็นสำหรับชิป และแบตเตอรี่ ซึ่งขุดและแปรรูปโดย จีน และตามรายงานของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐฯ ระบุว่าสหรัฐฯ พึ่งพาจีนสำหรับสารประกอบและโลหะหายากที่นำเข้าถึงร้อยละ 70 โดยบริษัทต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง แอปเปิล ด้วย ก็จัดหาสินค้าโดยตรงจากจีน นั่นทำให้ จีนมีอำนาจต่อรองมากกว่า และทางจีน ก็ได้กำหนดข้อจำกัดในการส่งออกโลหะหายากหลายประเภท เพื่อตอบสนองต่อภาษีของทรัมป์ไปแล้ว 

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ คาดว่าแอปเปิล น่าจะยังคงย้ายการผลิตออกจากจีน ไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ต่อไป

ปัจจุบัน แอปเปิล มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับอินเดียมากขึ้น และมีแผนที่จะย้ายการประกอบไอโฟน ที่จะจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาทั้งหมดไปยังอินเดียโดยเร็วที่สุด ซึ่งก็คือภายในปีหน้า นั่นหมายถึงว่า จะมีการเพิ่มปริมาณการผลิตสมาร์ตโฟนในอินเดียเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

เนล ชาห์ (Neil Shah) นักวิเคราะห์จากมุมไบ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง เคาน์เตอร์พอยต์ รีเสิรช กล่าวว่า นอกจากรัฐบาลอินเดียจะให้การสนับสนุน และการมีต้นทุนต่ำกว่าจีนแล้ว ที่อินเดีย ยังมีวิศวกรซอฟต์แวร์ที่พูดภาษาอังกฤษได้ และเป็นตลาดสมาร์ตโฟนใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และอาจเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดก็ได้ 

เขาบอกอีกว่า เมื่อปีที่แล้ว การประกอบไอโฟน ในอินเดีย มีสัดส่วนอยู่ที่ ร้อยละ 16 และคาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในปีนี้

ส่วน บราซิล ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างอินเดียและจีนในด้านต้นทุน อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับ แอปเปิล หากกรณีสหรัฐฯ ดำเนินการตามคำขู่ที่เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมร้อยละ 26 จากอินเดีย และด้วย บราซิล ซึ่งมีขนาดตลาดในประเทศใหญ่กว่า เวียดนาม ทำให้ บราซิล ที่น่าจะเป็นอีกตัวเลือกที่ แอปเปิลจะสามารถส่งสินค้าจากบราซิลไปยังส่วนอื่น ๆ ได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็น ละตินอเมริกา แคนาดา ยุโรปตะวันตก และ สหรัฐอเมริกา

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง