จีนเผย 'เมล็ดข้าวอวกาศ' งอกงาม หลังกลับจากทริปเยือน 'ดวงจันทร์'
กว่างโจว, 17 มี.ค. (ซินหัว) -- เมล็ดข้าวราว 1,500 เมล็ด เจริญงอกงามและผลิใบ ณ เรือนกระจกแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของจีน หลังพวกมันกลับจากการเดินทางเยือนดวงจันทร์เมื่อปี 2020
เมล็ดข้าวดังกล่าวถูกเพาะปลูกในเรือนกระจกของศูนย์วิจัยวิศวกรรมแห่งชาติด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชอวกาศ สังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จีนตอนใต้ (SCAU) และคาดว่าจะย้ายไปปลูกในแปลงเพาะช่วงสิ้นเดือนมีนาคมนี้
เมล็ดข้าวเหล่านี้เดินทางไกลมากกว่า 760,000 กิโลเมตร ไปดวงจันทร์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 และกลับสู่โลกวันที่ 17 ธ.ค. หลังจากอยู่บนฉางเอ๋อ-5 (Chang'e 5) ยานสำรวจดวงจันทร์ของจีนนาน 23 วัน โดยจัดเป็นเมล็ดข้าวอวกาศรุ่นที่ 2 เนื่องจาก "พ่อแม่" ของพวกมันเป็นเมล็ดพันธุ์อวกาศเช่นกัน
เฉินจื้อเฉียง ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวว่าการทดลองบนยานฉางเอ๋อ-5 แตกต่างจากการทดลองในอดีต โดยเป็นการทดลองแรกที่ดำเนินการในสภาพแวดล้อมอวกาศห้วงลึก ซึ่งมีเวลาการบินในอวกาศยาวนานขึ้น และยานสำรวจยังผจญกับรังสีในแถบแวนอัลเลน (Van Allen Belts) และจุดมืดดวงอาทิตย์ด้วย
ด้านกัวเทา รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ คาดการณ์ว่าการทดลองดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางพันธุกรรมรุนแรงขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมในอวกาศห้วงลึกมีความคล้ายคลึงกับสภาพแวดล้อมสุดขั้วในอวกาศจริง
กัวกล่าวว่าการทดลองจะช่วยนักวิจัยเรียนรู้ว่าผลลัพธ์ทางพันธุกรรมได้รับอิทธิพลจากอวกาศห้วงลึกและสภาพแวดล้อมวงโคจรต่ำของโลกอย่างไร รวมถึงมอบตัวอย่างการทดลองและข้อมูลที่สำคัญสำหรับการวิจัยกฎการกลายพันธุ์ของการผสมพันธุ์พืชอวกาศในอนาคต
ทั้งนี้ กัวเสริมว่าเมล็ดข้าวพันธุ์อวกาศอาจเก็บเกี่ยวได้ช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้