รีเซต

"โตโยต้า" อ่วมสุด ภาษีทรัมป์ ทำกำไรหาย 1,200 ล้านดอลล์ l การตลาดเงินล้าน

"โตโยต้า" อ่วมสุด ภาษีทรัมป์ ทำกำไรหาย 1,200 ล้านดอลล์ l การตลาดเงินล้าน
TNN ช่อง16
14 พฤษภาคม 2568 ( 12:22 )
12

ในการประเมินผลกระทบจากมาตรการภาษีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ เผยว่า ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน ทำให้กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ลดลงไปราว 180,000 ล้านเยน หรือกว่า 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และระบุว่า ผลกระทบในเดือนเมษายน และพฤษภาคม ได้ถูกนำมาพิจารณาอย่างคร่าว ๆ แล้ว แต่สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูงอยู่ ซึ่งจะส่งผลต่อผลประกอบการทั้งปี และคาดการณ์รายได้จากการดำเนินงานสำหรับงวดปี ที่สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2026 ไว้ที่ 3 ล้าน 8 แสน ล้านเยน ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 4 ล้าน 7 แสนล้านเยน

ส่วนกำไรจากการดำเนินงานในปีงวดปีล่าสุด (คืองวดปีสิ้นสุด 31 มีนาคม 2025) อยู่ที่ 4 ล้าน 8 แสนล้านเยน ต่ำกว่าสถิติสูงสุดที่โตโยต้า เคยทำได้ในงวดปี 2024 ซึ่งเคยทำได้ 5 ล้าน 3 แสน 5 หมื่น ล้านเยน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดตลอดกาลสำหรับบริษัทฯ ดังกล่าว

บลูมเบิร์ก รายงานด้วยว่า โตโยต้า เป็นผู้เสียหายรายใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ และ แม้จะเพิ่มการผลิตภายในประเทศสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายภายในสหรัฐฯ แล้ว แต่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ และนำเข้ารถยนต์รุ่นสำคัญ ๆ มากถึงปีละประมาณ 1 ล้าน 2 แสนคัน และด้วยเหตุนี้ จึงถูก ทรัมป์ นำไปพูดถึงเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ว่ารถโตโยต้าที่ขายในสหรัฐจำนวนกว่า 1 ล้านคันนั้น เป็นการผลิตจากต่างประเทศ 

และผลกระทบอย่างมหาศาลนี้ สะท้อนถึงการตัดสินใจของบริษัทฯ ที่จะรักษาระดับราคาขาย และปริมาณการผลิตในอเมริกา ซึ่งมีโรงงานถึง 11 แห่ง ท่ามกลางการเริ่มต้นของการเจรจาการค้าระดับทวิภาคี ระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งการเจรจานั้นได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และยังไม่แน่ชัดว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด และบทสรุปเป็นอย่างไร 

ซึ่ง โคจิ ซาโต (Koji Sato) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โตโยต้า กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เกี่ยวกับเรื่องภาษี รายละเอียดยังไม่ชัดเจนนัก และยังเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการหรือประเมินถึงผลกระทบใด ๆ

อย่างไรก็ดี สำหรับ โตโยต้า ได้ลงทุนอย่างมหาศาล เพื่อสร้างฐานการผลิตในสหรัฐฯ รวมถึงการลงทุน โรงงานแบตเตอรี่แห่งใหม่ที่รัฐ นอร์ธ แคโรไลนา มูลค่า 13,900 ล้านดอลลาร์ แต่บริษัทดังกล่าว ยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาฐานการผลิตในประเทศเอาไว้ด้วย โดยประธานบริษัท อาคิโอะ โทโยดะ (Akio Toyoda) ได้ให้คำมั่นไว้เสมอว่า บริษัทฯ จะมีการผลิตในญี่ปุ่นอย่างน้อย 3 ล้านคันต่อปี ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว โตโยต้าผลิตรถยนต์ในบ้านเกิดจำนวน 3 ล้าน 1 แสนคัน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของยอดผลิตทั้งหมดทั่วโลก

ด้านยอดขาย โตโยต้า มียอดจำหน่ายทั่วโลกในปีที่ผ่านมาอยู่จำนวน 10 ล้าน 8 แสนคัน เฉพาะตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของยอดขายทั้งหมด และในจำนวนยอดขายในสหรัฐฯ นั้น เป็นรถที่ผลิตในสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่ง และอีกร้อยละ 30 มาจากแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งเป็นประเทศเพื่อบ้านกัน ส่วนรถยนต์อีกจำนวน 281,000 คัน นำเข้าจากญี่ปุ่น รวมถึงรุ่นยอดนิยมเช่น โฟร์ รันเนอร์ ที่เป็นเอสยูวีขนาดกลาง (4Runner mid-sized SUV), รถ พรีอุส เครื่องยนต์ไฮบริด (Prius hybrid) และแบรนด์ เล็กซัส (Lexus) อีกหลายรุ่น

ส่วนรถยนต์ที่ขายดีของโตโยต้าในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ราฟโฟร์ (RAV4) เป็นครอสโอเวอร์เครื่องยนต์ไฮบริด และ คอมแพกต์ซีดาน โคโรลลา (Corolla) ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบขึ้นที่โรงงานในรัฐเคนตักกี้ และมิสซิสซิปปี้ แต่จะมีบางรุ่นย่อยที่นำเข้าจากทั้งแคนาดา และญี่ปุ่น 

ขณะที่ หัวหน้าฝ่ายเจรจาการค้าของญี่ปุ่น เรียวเซอิ อากาซาวะ (Ryosei Akazawa) พูดถึงผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์ โดยบอกว่า ผู้ผลิตรถยนต์รายหนึ่งของญี่ปุ่น กำลังสูญเสียรายได้ราว 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อชั่วโมงจากภาษีศุลกากร แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นรายใด และตัวแทนของโตโยต้า ไม่แสดงความเห็นใด ๆ ในเรื่องนี้

โดย อากาซาวะ ยังคาดหวังด้วยว่า การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น จะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในเดือนมิถุนายน โดยการเจรจารอบต่อไปจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้

ทั้งนี้ การกำหนดภาษีศุลกรกร สำหรับรถยนต์นำเข้าส่วนใหญ่ต้องเสียภาษีศุลกากรที่อัตรา ร้อยละ 25 มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน และชิ้นส่วนรถยนต์ส่วนใหญ่ต้องเสียภาษีดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม

อย่างไรก็ดี มีคำสั่งฝ่ายบริหารบางฉบับ ที่ป้องกันไม่ให้ภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เช่น รถยนต์นำเข้าจะได้รับการยกเว้นจากภาษีที่แยกต่างหากจากอลูมิเนียมและเหล็ก และ ผู้ผลิตรถยนต์ที่ผลิตและจำหน่ายรถยนต์สำเร็จรูปในสหรัฐฯ สามารถขอรับการชดเชยเป็นมูลค่าสูงสุดร้อยละ 3.75 ของมูลค่ารถยนต์ที่ผลิตในอเมริกา ถือเป็นการลดหย่อนภาษีให้ชั่วคราวจากอัตราร้อยละ 25 ตามที่กำหนด

แต่เมื่อพิจารณาว่าสหรัฐฯ เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ 5 รายของญี่ปุ่นแล้ว การเพิ่มภาษีศุลกากรเพียงเล็กน้อย ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผลกำไรของบริษัทเหล่านั้น 

นอกจากนี้ รัฐบาลทรัมป์ ได้บรรลุข้อตกลงการค้าฉบับแรกของสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ถือเป็นกรณีที่ สหรัฐฯ ได้ดุลการค้ากับสหราชอาณาจักร เมื่อปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่า 11,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่กับญี่ปุ่น นั้นต่างออกไป โดยสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่น เป็นมูลค่า 68,500 ล้านดอลลาร์ นั่นจะทำให้การบรรลุข้อตกลงโดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประนีประนอมกันอย่างมีนัยสำคัญนั้น จะทำได้ยาก

ซึ่ง ฮิโรชิ นามิโอกะ (Hiroshi Namioka) หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ของบริษัท ทีแอนด์ดี แอสเซต แมเนจเมนต์ กล่าวว่า เป็นความท้าทายอย่างมากในการจะบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ และประเมินว่า อุตสาหกรรมรถยนต์มีความสำคัญมากกับญี่ปุ่น และสำคัญมากเกินกว่าที่จะยอมทำตามสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการ

สำหรับการตอบสนองของผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ ของญี่ปุ่น ต่อสภาพแวดล้อมการค้าใหม่ที่ยากลำบากนั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฐานการผลิตทั่วโลก เช่น

นิสสัน มอเตอร์ หยุดคำสั่งซื้อรถ เอสยูวี ที่ผลิตในเม็กซิโกจากสหรัฐ ฮอนด้า มอเตอร์ กำลังย้ายการผลิตรถ ซีวิค รุ่นไฮบริด จากญี่ปุ่นไปที่สหรัฐฯ และ มาสด้า มอเตอร์ หยุดการส่งออกรถยนต์รุ่นหนึ่งไปแคนาดา ซึ่งผลิตขึ้นที่โรงงานในรัฐอลาบามา ของอเมริกา  ขณะที่ โตโยต้า ยังคงยืนกรานว่าจะคงแนวทางเดิมต่อไป ในการดำเนินการในสหรัฐฯ 

นอกจากผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่นแล้ว ผู้ผลิตรถยนต์อีกหลายราย ต่างประเมินผลกระทบ ต่อผลประกอบการไว้ค่อนข้างมากทีเดียว รวมถึงการถอนคาดการณ์รายได้ทั้งหมดในปีนี้ออกไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น

เจนเนอรัล มอเตอร์ส ที่ปรับลดการคาดการณ์กำไรทั้งปีลง มากถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ส่วน ฟอร์ด มอเตอร์ จำกัด เตรียมรับมือกับผลกระทบประจำปีที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 1,500 ล้านดอลลาร์ 

ขณะที่ กลุ่มสเตลแลนทิส (Stellantis) และเมอร์เซเดส เบนซ์ กรุ๊ป (Mercedes-Benz Group) ก็ได้ถอนการคาดการณ์รายได้ทั้งหมดในปีนี้ออกไปแล้ว 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง