รีเซต

นวัตกรรมเมืองลอยน้ำ แนวคิดที่อยู่อาศัยยุคใหม่เพื่อความยั่งยืน | TNN Tech Reports

นวัตกรรมเมืองลอยน้ำ แนวคิดที่อยู่อาศัยยุคใหม่เพื่อความยั่งยืน | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
17 พฤศจิกายน 2566 ( 16:37 )
79



ภาวะโลกร้อน ถือเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย จนส่งผลต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกปี ซึ่งปัญหานี้นับว่าได้สร้างความกังวลใจให้กับหลายเมืองที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล หรืออยู่ติดกับพื้นที่ชายฝั่ง 


โดยหนึ่งแนวทางแก้ปัญหาเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วมเมืองในอนาคตก็คือ การสร้างที่อยู่อาศัยหรือนวัตกรรมเมืองลอยน้ำ ซึ่งแต่ละเมืองมีความหลากหลาย แตกต่างกันไป ทั้งการออกแบบ ระบบสาธารณูปโภค และระบบนิเวศและสำหรับใครที่นึกภาพไม่ออก บทความนี้ได้รวบรวมตัวอย่างมาให้ได้ชมกันแล้ว 


โดเกน


เริ่มกันที่ประเทศแถบเอเชียอย่างญี่ปุ่น ซึ่งต้องเจอกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อย ๆ  บริษัทสถาปนิก เอ็นอาร์ก (N-ARK)  จึงได้นำเสนอวิธีการสร้างเมืองลอยน้ำยุคใหม่ ที่ชื่อว่า โดเกน เมืองที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างสมบูรณ์เมื่อเกิดภัยพิบัติ


  • ตัวเมืองนี้มีลักษณะเป็นวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.56 กิโลเมตร มีเส้นรอบวงเมืองอยู่ที่ประมาณ 5 กิโลเมตร 
  • มีส่วนประกอบ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนวงแหวนซึ่งเกิดจากท่อทรงกระบอกต่อกันเป็นวงกลม 
  • ท่อแต่ละอันจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางสูงสุด 50 เมตร ยาว 150 เมตร  
  • ภายในเมืองเป็นสิ่งปลูกสร้างลอยน้ำต่าง ๆ รวม 14 ประเภท 
  • รองรับประชากรได้ 10,000 คน
  • ด้านบนของวงแหวน เป็นทางเดินและสวนสาธารณะ 
  • ถัดลงมาจะแบ่งเป็นโครงข่ายไฟฟ้าและประปา 
  • อีกส่วนจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัย 
  • ด้านนอกของวงแหวนจะเป็นกำแพงครึ่งวงกลมที่เว้าเข้าไปสูง 8 เมตร สำหรับกันคลื่นสึนามิ 
  • ใต้วงแหวนจะเป็น Data Center ทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลด้านการแพทย์ 
  • ภายในเมือง จะมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น โรงเรียน, ห้างสรรพสินค้า, โรงพยาบาล 


สำหรับแผนบริหารเมืองนี้ บริษัทต้องการพัฒนาให้เป็นเมืองที่สามารถอยู่รอดได้เมื่อเกิดภัยพิบัติในทุกรูปแบบ ทั้งการผลิตอาหาร น้ำ และไฟฟ้าด้วยตัวเองอย่างครบวงจร รวมถึงเป็นศูนย์กลางการแพทย์แห่งอนาคต โฃดยตอนนี้เมืองนี้ยังเป็นเพียงไอเดียเท่านั้น กำลังอยู่ในช่วงหาทุนเพื่อพัฒนาเมืองนี้ให้เกิดขึ้นจริง


ซีพ็อดส์ (Seapods) 


ผลงานการออกแบบจาก บริษัท โอเชียน บิลด์เดอร์ (Ocean Builders) สตาร์ตอัปในประเทศปานามา ตั้งเป้าเป็นการสร้างที่พักอาศัยกลางทะเล ซึ่งอาจจะเป็นรากฐานของการสร้างบ้านในอนาคต 


  • ซีพ็อดส์เป็นห้องทรงกลม ติดกระจกรอบด้าน 
  • ให้พื้นที่อยู่อาศัยราว 73 ตารางเมตร 
  • รองรับผู้อยู่อาศัย 2 คน 
  • อยู่ในลักษณะลอยเหนือผิวน้ำ 3 เมตร 
  • ตั้งอยู่บนเสาเหล็กรับน้ำหนักซึ่งจะปักฐานอยู่ในทะเล 
  • ภายในเสาซ่อนบันไดวน สำหรับเดินขึ้น-ลง ไปสู่ตัวพ็อดส์ 
  • ชั้นล่างเชื่อมต่อกับส่วนจอดเรือ ส่วนที่นั่งพักผ่อน หรือส่วนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ สำหรับจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้
  • ฐานด้านล่างสุด จะยึดไว้กับบล็อกคอนกรีตขนาดใหญ่ที่พื้นทะเล เพื่อป้องกันไม่ให้โครงสร้างเคลื่อนที่ 
  • ออกแบบโครงสร้างใต้น้ำให้มีส่วนที่ทำหน้าที่เป็นปะการังเทียม เพื่อช่วยรักษาระบบนิเวศใต้ทะเลอีกด้วย
  • ภายในเน้นตกแต่งแบบทันสมัย เรียบง่าย มีการติดตั้งระบบ สมาร์ทพ็อด (Smartpods) หรือซอฟต์แวร์พิเศษ ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถควบคุมทุกอย่างในห้อง ได้ตั้งแต่แสงสว่าง อุณหภูมิ ไปจนถึงระบบการจัดการน้ำ 
  • ระบบจัดการของเสียหรือสิ่งปฏิกูล ใช้เป็นระบบเตาเผา เผาขยะและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ให้เหลือเพียงเถ้าถ่าน ความร้อนที่ได้จากเตาเผาจะเอาไปใช้หมุนเวียนกับระบบทำน้ำร้อนในบ้าน ของเสียที่เป็นของเหลวก็จะใช้ระบบรีไซเคิลและการบำบัดน้ำเสียให้กลับมาเป็นน้ำใช้ใหม่อย่างต่อเนื่อง


สำหรับราคาค่าใช้จ่ายของ ซีพ็อดส์ แต่ละหลังอยู่ที่ประมาณ 295,000 - 1,500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 10 - 50 ล้านบาท


ดูไบ รีฟ (Dubai Reef)


ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ กำลังผุดโครงการก่อสร้างสุดล้ำหลายแห่ง หนึ่งในนั้นก็คือ ดูไบ รีฟ (Dubai Reef) 


  • ดูไบ รีฟ ถูกออกแบบให้เป็นเกาะลอยน้ำหลาย ๆ เกาะกระจุกตัวกัน มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ 
  • การออกแบบอาคารบ้านเรือนเรียบง่ายแต่ทันสมัย อยู่รวมกันเป็นชุมชนลอยน้ำขนาดใหญ่ที่เน้นความยั่งยืน 
  • ภายในเกาะ มีทั้งอาคารที่อยู่อาศัย, สถานพยาบาล, ร้านค้า, สถานศึกษา สถานที่สำหรับการทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ทางทะเล 
  • การออกแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อม 
  • ใต้น้ำติดตั้งแนวปะการังเทียม ครอบคลุมพื้นที่ถึง 200 ตารางกิโลเมตร เป็นที่อยู่ของต้นปะการังกว่า 1 พันล้านต้น พร้อมกับต้นโกงกางอีก 100 ล้านต้น ทำให้เมืองแห่งนี้กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเหล่าสัตว์น้ำใต้ทะเล เติมเต็มความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ใต้น้ำมากขึ้น
  • เมืองนี้ใช้ไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานธรรมชาติทั้งหมด เช่น โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ ที่ด้านใต้ได้ติดตั้งกังหันลมไว้เพื่อรับพลังงานจากคลื่นใต้ทะเลได้ด้วย


ดูไบ รีฟยังเป็นแค่แนวคิดเท่านั้น ยังไม่มีการกำหนดวันเริ่มก่อสร้างแต่อย่างใด

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง