รีเซต

หมอมนูญ แนะปูพรมฉีด "แอสตราเซเนกา" เป็นหลักเหมือนอังกฤษ

หมอมนูญ แนะปูพรมฉีด "แอสตราเซเนกา" เป็นหลักเหมือนอังกฤษ
TNN ช่อง16
9 พฤษภาคม 2564 ( 11:56 )
76
หมอมนูญ แนะปูพรมฉีด "แอสตราเซเนกา" เป็นหลักเหมือนอังกฤษ

วันนี้( 9 พ.ค.64) นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ว่า

 

 

"วัคซีนแบบฉีดเข็มเดียวตัวที่ 2 ของโลกชื่อสปุตนิกไลท์ ได้รับการอนุมัติจากประเทศรัสเซีย มีประสิทธิภาพป้องกันโรคโควิด-19 ได้ 79.4 %

 

วัคซีนของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นวัคซีนตัวแรกของโลกที่ได้รับการรับรองให้ฉีดเข็มเดียว มีประสิทธิภาพป้องกันโรคโควิด-19 ได้ 66%

 

วัคซีนสปุตนิกไลท์ของรัสเซีย บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันของสหรัฐอเมริกา และบริษัทแอสตร้าเซเนก้าของอังกฤษ ใช้เทคโนโลยีเดียวกัน โดยอาศัยอะดีโนไวรัสเป็นพาหะนำสารพันธุกรรมที่ตัดต่อเอาเฉพาะส่วนที่จะถอดรหัส

 

เป็นหนามของไวรัสโควิด-19 เข้าไปในเซลล์ของมนุษย์เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา

 

วัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกาหลังฉีดเข็มแรก 4 สัปดาห์ป้องกันโรคโควิด-19 ได้ 76% หลังให้ 2 โดสป้องกันได้ 81% 

 

เมื่อเทียบดูประสิทธิภาพแล้ว วัคซีนแอสตราเซเนกาสามารถนำมาใช้เป็นวัคซีนที่ให้เข็มเดียวจบ เหมือนกับวัคซีนของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันและสปุตนิกไลท์

 

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ ประเทศสหราชอาณาจักรใช้วัคซีนบริษัทแอสตราเซเนกาเป็นหลัก หลังจากให้วัคซีนนี้ทุกคนเข็มแรกจำนวนคนอังกฤษติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด

 

เราควรทำตามประเทศอังกฤษ ปูพรมฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาทุกคนเข็มเดียวก่อน (คนไทยอายุ 18 ปี ขึ้นไป 57 ล้านคน แรงงานต่างด้าวและคนต่างชาติอาศัยในประเทศไทยอีก 4 ล้านคน)  

 

คนที่ได้วัคซีนบริษัทแอสตราเซเนกาเข็มเดียวไม่ต้องกังวล เพราะปีหน้าจะต้องได้วัคซีนรุ่นใหม่เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันและมีประสิทธิภาพครอบคลุมสายพันธุ์ใหม่ๆที่อาจหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนปัจจุบัน

 

การให้วัคซีนต้องแข่งกับเวลา ถ้าประเทศไทยใช้นโยบายฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาทุกคนเข็มเดียว นอกจากประหยัดทั้งงบประมาณในการสั่งซื้อวัคซีนแล้ว ยังช่วยทำให้คนในประเทศเกิดภูมิคุ้มกันหมู่เร็วขึ้น 

 

ไม่จำเป็นต้องจัดหาวัคซีน 150-200 ล้านโดสปีนี้ เผื่อสำรองเก็บไว้สำหรับปีหน้า เป็นที่ทราบกันดีวัคซีนปีนี้มีประสิทธิภาพต่ำกับเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ บราซิล และอินเดียที่อาจระบาดไปทั่วโลก ประเทศไทยต้องมองไปข้างหน้าเตรียมจัดซื้อและผลิตวัคซีนรุ่นใหม่สำหรับปีต่อไปแต่เนิ่นๆ"

 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง