รีเซต

"GANEFO 1963" เมื่ออินโดนีเซียจัดมหกรรมกีฬาเพื่อท้าทาย "โอลิมปิก" โดยเฉพาะ | Chronicles

"GANEFO 1963" เมื่ออินโดนีเซียจัดมหกรรมกีฬาเพื่อท้าทาย "โอลิมปิก" โดยเฉพาะ | Chronicles
TNN ช่อง16
19 กรกฎาคม 2567 ( 16:39 )
13
"GANEFO 1963" เมื่ออินโดนีเซียจัดมหกรรมกีฬาเพื่อท้าทาย "โอลิมปิก" โดยเฉพาะ | Chronicles

โอลิมปิกคือมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทุกประเทศต่างเฝ้ารอเวลาทุก ๆ 4 ปี ในการร่วมแข่งขัน บรรดานักกีฬาของแต่ละประเทศก็เฝ้ารอที่จะชิงชัยเหรียญทองมากประดับบารมีของตนเองและสร้างชื่อเสียงการยอมรับจากสากลโลก


แต่ในอดีตที่ผ่านมา ได้มีการจัดมหกรรมท้าทายโอลิมปิกอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือ “The Games of the New Emerging Forces” หรือ กาเนโฟ (GANEFO) โดยมีโต้โผคือประเทศ “อินโดนีเซีย” ทั้งยังมีการตอบรับที่ดีจากหลายประเทศ ที่พร้อมเข้าร่วมและปฏิเสธโอลิมปิกอีกด้วย


เรื่องนี้เกิดขึ้นจากการที่อินโดนีเซียจัดเอเชียนเกมส์ 1962 และไม่ยอมให้อิสราเอลและไต้หวันเข้าร่วมแข่งขัน ชาติสมาชิกโอลิมปิกในโลกตะวันตกจึงทำการ “บอยคอต” ทั้งในทางกีฬาและเศรษฐกิจ คือ นอกเหนือจากห้ามอินโดนีเซียเข้าแข่งขันโอลิมปิก 1964 ที่ญี่ปุ่นแล้ว ยังกีดกันทางการค้า ไม่สร้างความร่วมมือพหุภาคี หรือตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอินโดนีเซีย


ประธานาธิบดี ซูการ์โน สุดยอดผู้นำแห่งอินโดนีเซีย ณ ตอนนั้น จึงไม่พอใจอย่างมาก และประกาศว่าอินโดนีเซียก็จะไม่เข้าร่วมโอลิมปิกเช่นกัน ละทิ้งวลีเด็ดใน Jakarta Conference ปี 1963 ความว่า “โอลิมปิกก็เป็นเพียงเครื่องมือของพวกล่าอาณานิคมและเจ้าอาณานิคมเท่านั้นแหละ!”


GANEFO จึงได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับสโลแกนจิกกัดโอลิมปิกที่ว่า “ไปข้างหน้า อย่าย่ำอยู่กับที่ (Onward, No Retreat.)” โดยมี 51 ประเทศ เข้าร่วมชิงชัย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม หรือประเทศเกิดใหม่ แต่ที่น่าสนใจที่สุด คือการที่อินโดนีเซียอนุญาตให้ “อาหรับปาเลสไตน์” เข้าร่วมแข่งขัน ทั้งที่มีข้อพิพาทฉนวนกาซากับอิสราเอล


งานศึกษา The politicization of sport: GANEFO–A case study เขียนโดย Rusli Lutan และ Fan Hong ตีพิมพ์ใน Sport in Society ได้เสนอว่า การที่อินโดนีเซียเลือกท้าทายโอลิมปิกโดยการจัด GANEFO ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของความไม่พอใจการโดนแบนและบอยคอต แต่เกี่ยวข้องกับความไม่พอใจใน “ระบบโลก (World System)” ที่ตะวันตกคิดขึ้นมา

เพราะการที่จะได้เข้าร่วมในระบบโลกแบบตะวันตก ก็จะต้องทำตามที่ตะวันตกชี้นิ้วสั่ง แม้กระทั่งโอลิมปิกที่มีเจตจำนงแยกกีฬาออกจากการเมือง แต่ตะวันตกก็ยังคงมีการแอบแฝงการเมืองอยู่ในกีฬา ดังนั้น บรรดาประเทศที่เป็นโลกที่ 3 และประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตก แยกออกมาจัดมหกรรมกีฬาเอง ออกแบบหลักการเอง จะได้สร้าง “ฉันทามติ (Hehemony)” แบบใหม่ร่วมกันจะเป็นผลดีกว่ามาก


แต่ GANEFO ได้สิ้นสุดลงอย่างรวดเร็วด้วยการจัดเพียง 2 ครั้ง คือในปี 1963 และปี 1966 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพที่สูงเกินกว่าประเทศสมาชิกที่เป็นประเทศโลกที่ 3 และประเทศไม่ใช่ประชาธิปไตยจะจ่ายไหว และความนิยมก็ไม่สามารถที่จะเทียบรัศมีโอลิมปิกได้ 


จึงต้องปิดตำนานมหกรรมกีฬาที่พยายามจะท้าทายโอลิมปิกและคุณค่าแบบตะวันตกลงไปในที่สุด


Chronicles by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]

แหล่งอ้างอิง


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง