รีเซต

"อินโดนีเซีย-สหรัฐฯ" ปิดดีลภาษีลดเหลือ 19% จาก 32% สหรัฐฯได้นำเข้า 0% ขายพลังงาน สินค้าเกษตร เครื่องบิน

"อินโดนีเซีย-สหรัฐฯ" ปิดดีลภาษีลดเหลือ 19% จาก 32% สหรัฐฯได้นำเข้า 0% ขายพลังงาน สินค้าเกษตร เครื่องบิน
TNN ช่อง16
16 กรกฎาคม 2568 ( 10:20 )
7

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำแห่งสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันอังคารว่าสหรัฐฯจะเรียกเก็บภาษีนำเข้า 19% ต่อสินค้าจากอินโดนีเซีย ภายใต้ข้อตกลงใหม่ พร้อมระบุอีกว่ามีข้อตกลงลักษณะเดียวกันอีกหลายฉบับที่อยู่ระหว่างการเจรจา เนื่องจากเขายังคงผลักดันเพื่อให้ได้เงื่อนไขที่ดีกว่าจากคู่ค้า และลดปัญหาขาดดุลการค้าของสหรัฐฯที่มีอยู่ในระดับสูง


สำหรับข้อตกลงกับอินโดนีเซียมีลักษณะคล้ายกับที่สหรัฐฯทำกับเวียดนาม โดยกำหนดให้สินค้าส่งออกจากอินโดนีเซียมายังสหรัฐฯถูกเก็บภาษีแบบเหมาจ่ายที่ 19% หรือประมาณสองเท่าของอัตราเดิมที่ 10% ขณะที่สินค้าส่งออกจากสหรัฐฯไปอินโดนีเซียจะไม่ถูกเก็บภาษี หรือภาษี 0% นอกจากนี้ยังมีบทลงโทษต่อสินค้าที่ถูก “ส่งผ่าน” (transshipment) จากจีนผ่านอินโดนีเซีย รวมถึงเงื่อนไขที่อินโดนีเซียจะต้องซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ บางรายการ


ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวนอกทำเนียบขาวว่า “พวกเขาจะจ่าย 19% ส่วนเราจะไม่จ่ายอะไรเลย เราจะสามารถเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซียได้เต็มที่ และเราก็มีข้อตกลงแบบนี้อีกหลายฉบับที่ใกล้จะประกาศแล้ว”


ต่อมาทรัมป์ได้โพสต์ลงบน Truth Social ระบุว่า อินโดนีเซียตกลงจะซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ ได้แก่ พลังงานมูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ สินค้าเกษตร 4.5 พันล้านดอลลาร์ และเครื่องบิน Boeing จำนวน 50 ลำ แต่ยังไม่ได้ระบุกรอบเวลาการซื้อขายที่แน่นอน


ทั้งนี้การบรรลุข้อตกลงกับอินโดนีเซีย ถือเป็นชาติที่ 2 ของ กลุ่มอาเซียน และถือเป็นคู่ค้าที่ไม่ได้มีบทบาทหลักในเชิงพาณิชย์กับสหรัฐฯมากนัก โดยมูลค่าการค้ารวมระหว่างสหรัฐฯ กับอินโดนีเซียในปี 2567 อยู่ที่ไม่ถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่ได้ติดอันดับ 15 อันดับแรกของคู่ค้าสำคัญ แต่ก็มีแนวโน้มเติบโต โดยการส่งออกจากสหรัฐฯ ไปอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 3.7% ขณะที่การนำเข้าจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 4.8% ส่งผลให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสินค้ากับอินโดนีเซียเกือบ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์


หมวดสินค้าหลักที่สหรัฐฯ นำเข้าจากอินโดนีเซีย ได้แก่ น้ำมันปาล์ม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (เช่น เราเตอร์และสวิตช์), รองเท้า, ยางรถยนต์, ยางพารา และกุ้งแช่แข็ง


ขณะที่การปิดดีลกับอินโดนีเซีย ก็นับเป็นหนึ่งในไม่กี่ข้อตกลงที่รัฐบาลทรัมป์สามารถสรุปได้ก่อนเส้นตาย 1 สิงหาคม 2568 หลังจากนั้นภาษีนำเข้าคู่ค้าจะถูกปรับสูงขึ้น เพิ่มจากอัตราภาษีฐานที่ 10% ที่ทางการสหรัฐฯได้ประกาศและมีผลไปแล้วตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งในระหว่างนี้ผู้นำของสหรัฐฯได้ทยอยส่งจดหมายแจ้งอัตราภาษีไปยังคู่ค้าต่างๆ  รวมไปถึงสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ถูกเรียกภาษีที่ 30% และตอบโต้กลับทันทีว่าภาษีดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และมีมติพิจารณาออกมาตรการตอบโต้อย่างเป็นรูปธรรม หากการเจรจาไม่สำเร็จ 



 "สุสีวิญโญ โมเอกีอาร์โซ"  เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ระบุว่า ทางการอินโดนีเซียกำลังจัดเตรียมแถลงการณ์ร่วมระหว่างสหรัฐฯ กับอินโดนีเซีย เพื่ออธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราภาษี การตกลงด้านภาษีแบบต่างตอบแทน มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี และข้อตกลงทางการค้าอื่น ๆ ซึ่งจะแจ้งให้ประชาชนทราบในเร็ว ๆ นี้


ก่อนหน้านี้ทรัมป์ได้ส่งจดหมายถึงประธานาธิบดีอินโดนีเซียขู่จะเรียกเก็บภาษีในอัตรา 32% ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 และส่งจดหมายลักษณะเดียวกันไปยังประเทศคู่ค้าราว 24 ประเทศ รวมถึงแคนาดา ญี่ปุ่น และบราซิล โดยกำหนดอัตราภาษีตั้งแต่ 20% ถึง 50% และภาษีเฉพาะสินค้า เช่น ทองแดง ที่ 50%


ขณะกล่าวสุนทรพจน์ที่พิตต์สเบิร์กเมื่อวันอังคาร ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่า เขาให้ความสำคัญกับการใช้มาตรการภาษีอย่างครอบคลุมมากกว่าการเจรจาที่ยุ่งยาก แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สก็อตต์ เบสเซนต์ และรัฐมนตรีพาณิชย์ ฮาวเวิร์ด ลุตนิค ก็ยังพยายามผลักดันข้อตกลงทางการค้าให้เกิดขึ้นมากขึ้น และยังบอกกับผู้สื่อข่าวอีกว่า จะมีจดหมายอีกหลายฉบับส่งไปยังประเทศเล็ก ๆ อีกจำนวนมาก โดยแต่ละประเทศจะถูกเก็บภาษีประมาณ 10% กว่า ๆ


ทั้งนี้ เส้นตายวันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นการเปิดช่องให้ประเทศต่าง ๆ เจรจาขอลดอัตราภาษีได้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บางรายยังตั้งข้อสังเกตว่า ทรัมป์มักมีพฤติกรรม “ขู่ก่อนถอยทีหลัง”


อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่เริ่มใช้นโยบายภาษี ทรัมป์สามารถตกลงเจรจาสำเร็จเพียงไม่กี่ฉบับ ห่างไกลจากคำสัญญาเดิมที่ว่า “จะทำให้ได้ 90 ข้อตกลงใน 90 วัน” ปัจจุบันมีข้อตกลงเบื้องต้นกับสหราชอาณาจักรและเวียดนาม และข้อตกลงชั่วคราวกับจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษีในระดับสูงที่สุด ขณะการเจรจากับจีนยังคงดำเนินอยู่

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง