รีเซต

"อินโดนีเซีย" ต้องแลกด้วยอะไร เพื่อบรรลุดีล "ภาษีทรัมป์" ลดภาษีเหลือ 19%

"อินโดนีเซีย" ต้องแลกด้วยอะไร เพื่อบรรลุดีล "ภาษีทรัมป์" ลดภาษีเหลือ 19%
TNN ช่อง16
16 กรกฎาคม 2568 ( 10:50 )
10

ชาติอาเซียน 2 ประเทศ บรรลุข้อตกลงภาษีทรัมป์แล้ว ล่าสุด คืออินโดนีเซีย ลดจาก 32% เหลือ 19% เหลือต่ำกว่าเวียดนาม ที่บรรลุข้อตกลงไปก่อนหน้านี้เสียอีก 

แต่รายละเอียดของอินโดนีเซียนั้น มีการเปิดเผยมากกว่าดีลของเวียดนาม มีอะไรบ้าง ในห้วงเวลาที่ไทยยังรอเจรจารอบใหม่ ก่อนเส้นตาย 1 ส.ค. นี้

ตอนนี้ อินโดนีเซีย ถือเป็นชาติอาเซียนที่เจอภาษีทรัมป์ต่ำสุดเป็นอันดับ 2 แล้ว รองจากสิงคโปร์ ที่เจอภาษีเพียง 10% หลังทรัมป์ประกาศบรรลุข้อตกลงกับอินโดนีเซียเมื่อคืนวันที่ 15 ก.ค.

สิ่งที่อินโดนีเซียนำไปแลก เรียกได้ว่า ทุ่มหมดหน้าตักทีเดียว มีอะไรบ้างไปดูกัน

ทรัมป์ระบุว่า ได้เจรจาด้วยดีกับประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โดยอินโดนีเซียให้คำมั่นจะซื้อพลังงานจากสหรัฐฯ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  

ซื้อผลิตภัณฑ์เกษตรสหรัฐฯ 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 50 ลำ ส่วนใหญ่เป็นโบอิ้ง 777 

ไม่เพียงเท่านั้น ทรัมป์ระบุอีกว่า ได้ขอให้อินโดนีเซียไม่เก็บภาษีนำเข้า สินค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเงื่อนไขเดียวกันกับเวียดนาม ที่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าอเมริกันเป็นศูนย์ 

อีกหนึ่งเงื่อนไขเดียวกันที่อินโดนีเซียได้เหมือนกับเวียดนาม คือ สินค้าสวมสิทธิ์ หรือ Transshipment จะเจอภาษีที่สูงมากขึ้นหากส่งออกไปสหรัฐฯ

ทำเนียบขาวยังระบุว่า สหรัฐฯ ซื้อทองแดงจากอินโดนีเซียในปริมาณมาก ทำให้อาจเสนอภาษีที่ต่ำกว่า หรือไม่มีภาษีเลย สำหรับทองแดงที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย 

โดยปีที่แล้ว อินโดนีเซียส่งออกทองแดงไปสหรัฐฯ มูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ แต่ก็ยังน้อยกว่าชิลีและแคนาดา ที่ส่งออกทองแดงไปอเมริกา 6,000 ล้าน และ 4,000 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ

การที่อินโดนีเซียบรรลุข้อตกลงกับทรัมป์แล้ว เพิ่มแรงกดดันให้ไทย ที่การเจรจารอบแรกยังไม่เป็นผล และกำลังยื่นข้อเสนอใหม่ไปยังผู้แทนการค้าสหรัฐฯ 

เพราะ 2 ชาติอาเซียนที่บรรลุข้อตกลงกับทรัมป์แล้ว ได้รับการปรับลดอัตราภาษีต่ำกว่าไทยทั้งสิ้น คือ เวียดนาม 20% และอินโดนีเซีย 19% ขณะที่ชาติอาเซียนอื่น คือ บรูไน ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เจอภาษีต่ำกว่าไทยอยู่แล้ว

ไทย เจออัตราภาษี 36% นั่นหมายความว่า มีชาติอาเซียน 3 ประเทศเท่านั้น ที่เจอภาษีเท่า และมากกว่าไทย คือ กัมพูชา 36% สปป.ลาว 40% และเมียนมา 40% 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง