รีเซต

อินเดียพัฒนาหมวกกันน็อกฟอกอากาศ ป้องกันมลพิษ

อินเดียพัฒนาหมวกกันน็อกฟอกอากาศ ป้องกันมลพิษ
TNN ช่อง16
19 กันยายน 2565 ( 17:07 )
180

หมวกกันน็อกเป็นอุปกรณ์นิรภัยที่หลายคนอาจจะไม่ชอบใส่เพราะรู้สึกอึดอัด หายใจลำบาก สตาร์ตอัปในประเทศอินเดียเลยแก้ปัญหานี้ด้วยการออกแบบหมวกกันน็อคป้องกันมลพิษที่ช่วยฟอกอากาศ และยังทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกสบายหายใจสะดวกเหมือนไม่ได้ใส่หมวกกันน็อก


ภาพจากรอยเตอร์


หมวกกันน็อกรุ่นนี้พัฒนาโดย เชลลิออส เทคโนแล็บ (Shellios Technolabs) ลักษณะเป็นหมวกกันน็อกแบบครอบศีรษะเต็มใบ ตัวหมวกหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม หนักกว่าหมวกกันน็อกทั่วไป เนื่องจากมีการติดตั้งอุปกรณ์เสริมเป็นแผ่นฟอกอากาศแบบถอดเปลี่ยนได้ และช่องพัดลมด้านหลังที่ใช้พลังงานจกแบตเตอรี่ ชาร์จผ่านช่องเสียบ microUSB ใช้งานได้นาน 6 ชั่วโมงต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง



ภาพจากรอยเตอร์

 


โดยบริษัทระบุว่าตัวหมวกสามารถกรองมลพิษได้ถึง 80% ทำให้ผู้ขับขี่ได้สูดอากาศภายในหมวกอย่างสดชื่นมากขึ้น ลดความรู้สึกอึกอัด ส่วนราคาจำหน่ายอยู่ที่ประมาณใบละ 56 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2,000 บาท โดยรุ่นที่มีราคาถูกกว่า น้ำหนักเบากว่า อาจจะพัฒนาตามมาหลังจากนี้


ภาพจากรอยเตอร์

 


อมิต ปาทัก (Amit Pathak) ผู้ก่อตั้งบริษัทกล่าวถึงไอเดียในการพัฒนาหมวกกันน็อกรุ่นนี้ว่า ปกติแล้วในอาคารต่าง ๆ ก็มักจะมีเครื่องฟอกอากาศให้กับผู้อาศัย หรือแม้แต่ในรถยนต์เองก็ตาม แต่กับคนที่ต้องขับขี่มอเตอร์ไซค์กลับต้องเจอสภาวะอากาศที่เต็มไปด้วยมลพิษ และในอินเดียเองก็ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเมืองที่มีมลพิษติดอันดับไปแล้ว 35 เมืองจาก 50 เมืองที่มีมลพิษสูงสุดของโลก ดังนั้นบริษัทหวังว่าการพัฒนาหมวกกันน็อกรุ่นนี้ จะช่วยให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์บนท้องถนน ได้สูดอากาศบริสุทธิ์มากขึ้น ลดอันตรายของมลพิษที่จะเข้าสู่ร่างกายได้


ภาพจากรอยเตอร์

 

นอกจากนี้ยังมอว่าตลาดของหมวกกันน็อกฟอกอากาศค่อนข้างใหญ่ เพราะแค่ในอินเดียก็มีผู้ใช้งานมอเตอร์ไซค์บนท้องถนนไปแล้วเกินกว่า 20 ล้านคัน และเพิ่มขึ้นทุกปี มีโอกาสที่จะขยายธุรกิจได้อีกมาก รวมถึงเผยว่าตัวหมวกยังได้รับความสนใจจากประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม และไทย อีกด้วย




ขอบคุณข้อมูลจาก

reuters

au.sports

indianexpress

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง