รีเซต

นักวิจัยเตือนระดับก๊าซคาร์บอนฯ สูง เกือบแตะขีดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่

นักวิจัยเตือนระดับก๊าซคาร์บอนฯ สูง เกือบแตะขีดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่
TNN ช่อง16
10 สิงหาคม 2566 ( 16:25 )
140

ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แล้วโลกของเราจะถึงขีดจำกัดตอนไหน ? โดยวิลเลียม แจ็กสัน เดวิส (William Jackson Davis) นักชีววิทยาและประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมศึกษาไม่แสวงหาผลกำไรในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลงานการศึกษาใหม่ที่ชี้ว่า ภายในปี 2100 ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกอาจเพิ่มขึ้นเป็น 800 ส่วนในล้านส่วนโดยปริมาตร (ppmv) ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากความเข้มข้นประมาณ 421 ส่วนในล้านส่วน อันเป็นระดับที่ได้รับการบันทึกไว้ในปี 2023


ทะเลกรดคร่าสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล 

โดยระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกในปี 2100 จะใกล้เคียงกับเมื่อ 534 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งก็คือ 870 ส่วนในล้านส่วน อันเป็นระดับที่ก่อให้เกิดการล่มสลายครั้งใหญ่ของความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล เนื่องจากความเข้มข้นที่สูงระดับนั้น ส่งผลให้น้ำในมหาสมุทรมีค่าเป็นกรด เพราะธรรมชาติของมหาสมุทรมีการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ 


ในขณะที่มหาสมุทรที่เป็นกรด ก็จะส่งผลให้ปริมาณแคลเซียมคาร์บอเนตหรือหินปูนลดลง ซึ่งเป็นสารที่จำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตในการสร้างโครงกระดูก เปลือกหอยและปะการัง จนส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารทั้งหมด


นอกจากนี้ เขายังชี้ด้วยว่าในช่วง 534 ล้านปีที่ผ่านมา มีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เกิดขึ้นถึง 50 ครั้ง ซึ่งทำให้ 6.4 - 96 เปอร์เซ็นต์ ของสัตว์ทะเลทั้งหมดสูญพันธุ์ โดยนิยามของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในที่นี้คือจุดสูงสุดของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ 

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มีนิยามที่ต่างกัน 

อย่างไรก็ตาม การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มักมีนิยามที่ต่างกันออกไปในแต่ละการศึกษา เช่นในทางธรณีวิทยา การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่หมายถึงการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต 3 ใน 4 ชนิดในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 2.8 ล้านปี ซึ่งตามนิยามนี้ โลกของเราเคยเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง


โดยเขาชี้ว่า ในทุกปีระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มขึ้น 2 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ที่จะทำให้มีการสูญเสียความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ภายในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า


ข้อมูลจาก livescience

ภาพจาก Pixabay

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง