ลูกช้างห้วยขาแข้งเริงร่า!! รอนำไปเลือกแม่ที่ จ.ลำปาง
นับตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2563 ถึงวันนี้ รวม 164 วันมาแล้ว ที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชพบลูกช้างห้วยขาแข้งพลัดหลงจากโขลงแม่ แล้วนำมาดูแลอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากทีมงานสัตวแพทยย์ของกรม ได้รักษาบาดแผลที่ข้อเท้าข้างหน้าซ้าย โดยใช้เวลารักษานานถึง 45 วันจนแผลหายดีเป็นปกติ จากนั้นจึงได้พยายายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ให้ลูกช้างกลับไปอยู่อย่างเสรีในป่ากับโขลงแม่ให้ได้
โดยได้ใช้ความพยายามมาแล้วเป็นเวลานานร่วม 120 วัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ลุ้นโอกาสที่ช้างโขลงแม่เข้ารับถึง 5 รอบ แต่ลูกช้างไม่ยอมเดินตามไปกับโขลงแม่
โดยรอบหลังสุดที่โขลงช้าง เข้ามารับ คือเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา นับวันได้ 38 วันแล้ว จากนั้นไม่มีสัญญานใดที่จะส่งทีท่าว่าช้างโขลงแม่จะวนเข้ามารับที่หอต้นผึ้งอีก
ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงนี้เป็นฤดูฝน ทำให้มีอาหารอุดมสมบูรณ์ขึ้น ทำให้รอบของการวนกลับมาที่โป่ง ใช้เวลานานขึ้นประกอบกับช่วงนี้มีมรสุมเข้ามาด้วย จึงมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำในลำห้วยมีระดับสูงขึ้น ช้างโขลงนี้ มีลูกอ่อนด้วย จึงไม่เสี่ยงที่จะว่ายน้ำข้ามห้วยมาหาลูกช้างพลัดหลง
คณะทำงานเตรียมการปล่อยลูกช้างคืนป่า ในระดับพื้นที่ นำโดย นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12(นครสวรรค์) ได้หารือกับนักวิชาการ รวมทั้งผู้บริหารของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทุกคนให้ความเห็นตรงกันว่า โอกาสที่ช้างโขลงแม่ จะมารับ และลูกช้างตามไปด้วยนั้นมีโอกาสน้อยมาก และเห็นว่า เพื่อความปลอดภัยของลูกช้าง ที่มีความเสี่ยงอาจถูกล่าโดยสัตว์ผู้ล่า และเพื่อสุขภาพที่ดีของลูกช้าง ต้องรีบหาแม่รับ เพื่อให้ลูกช้างได้กินนมจากแม่ช้าง ลูกช้างจะได้มีสุขภาพที่ดี กระดูกได้รับแคลเซียมที่เพียงพอ ส่งผลให้ลูกช้างมีอายุยืนยาวขึ้น
ขั้นตอนการหาแม่รับ ในขั้นแรก ให้ย้ายลูกช้างจากคอกเตรียมปล่อยกลางป่าลึกที่หอต้นผึ้ง ไปอยู่ในที่ปลอดภัย ดูแลง่าย คือที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อขุนให้ร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ พร้อมจะนำขึ้นรถบรรทุกไปหาแม่รับ และรีบประสานติดต่อหาแม่รับในเบื้องต้นหลายๆ แม่ ไว้ให้ได้ จากนั้นจึงจะนำลูกช้างไปเลือกแม่ที่เห็นว่าเข้ากันได้ดีสุด ให้ลูกช้างอยู่ด้วยกันที่นั่น อย่างน้อย 3 เดือน แล้วค่อยประเมินผลร่วมกันกับหลายๆ ฝ่าย ว่า จะปล่อยคืนป่าที่นั่น เพื่อเพิ่มพันธุกรรมที่หลากหลายของโขลงช้าง เป็นการช่วยลดความอ่อนแอที่เกิดจากผสมแบบเลือดชิด หรือ จะนำกลับ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อีกรอบ
การปฎิบัติการเคลื่อนย้ายลูกช้าง กลับสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เริ่มขึ้น เมื่อเวลา 07.12 น.ของวันนี้(วันที่ 8 ตุลาคม 2563) เจ้าหน้าที่ที่เฝ้าดูแลลูกช้างที่หอต้นผึ้ง ได้นำลูกช้างเดินเท้าตามถนนจากหอต้นผึ้งผ่านเส้นถนนทางเข้าเขตฯ(ด่านตรวจหน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก) เป็นระยะทาง ราว 10 กิโลเมตร ไปยังคอกเดิมที่เคยเลี้ยงตอนพบครั้งแรก เป็นคอกขนาด 30 x 40 เมตร ที่เจ้าหน้าที่ได้ฆ่าเชื้อในพื้นที่ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่พาเดิน ลูกช้างมีความร่าเริงมาก ตอนเปิดคอกให้ออกมาเดิน ลูกช้างแสดงอาการปีนป่ายคอก ดีใจ วิ่งนำออกมาที่ถนนในป่า เจ้าหน้าที่ต้องพากันวิ่งตาม จากนั้นเดินมาได้ 1 ชั่วโมง มาถึงป้ายมรดกโลก น่าจะอ่อนแรงลง จึงไม่ยอมเดินต่อ ต้องหยุดพักให้น้ำและอาหารอีกรอบ และเดินต่ออีก ชั่วโมงที่สอง ไปหยุดตรงฝายข้ามน้ำเข้าสถานีเพาะเลี้ยง แต่ปริมาณน้ำสูงและน้ำไหลแรง จึงไม่สามารถข้ามตรงนั้นได้ จึงแวะให้ลูกช้างเล่นน้ำเพื่อผ่อนคลายจากการเดินระยะไกล หลังจากนั้นพาเดินอ้อมเข้าหลังสถานีฯไปยังคอกกัก ใช้เวลาทั้งหมด 3 ชั่วโมง 30 นาที สุขภาพโดยทั่วไปของลูกช้างในวันนี้ แข็งแรง สมบูรณ์ และร่าเริง มาก
ทั้งนี้ก่อนเคลื่อนย้ายลูกช้างในวันนี้ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โทรศัพท์สั่งการกำชับให้ นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12(นครสวรรค์) ให้ปฎิบัติการในการบริหาร ดูแล จัดการ และอนุบาล ลูกช้าง ให้เป็นไปตามหลักวิชาการ ประสานผู้รู้รอบด้าน อย่างเคร่งครัด เน้นย้ำให้ลูกช้างปลอดภัย ไม่ต้องห่วงเรื่องงบประมาณ หากไม่พอ ให้รีบจัดทำโครงการของบประมาณเพิ่มมาทันที
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE