พบลูกช้างป่าแก่งกระจานลักษณะพิเศษ งายาว 60 ซม. ยาวกว่าลูกช้างปกติเกือบ 5 เท่า
เพจเฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยแพร่ข้อความ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 ระบุ นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้รับรายงานจากชุดเฝ้าระวังช้างในเขตตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ว่า กล้องเฝ้าระวังสามารถบันทึกภาพโขลงช้างป่าขณะออกหากิน และพบมีลูกช้างอายุประมาณไม่เกิน 5 ปี 1 ตัว ที่มีลักษณะพิเศษคือ มีงายาวถึง 60 เซนติเมตร และมีลักษณะสง่างาม ซึ่งถือว่าเป็นความยาวมากกว่าปกติสำหรับช้างในวัยนี้ เพราะโดยทั่วไปแล้ว ลูกช้างอายุ 5 ปีจะมีงายาวประมาณ 10-15 เซนติเมตรเท่านั้น การพบลูกช้างที่มีงายาวกว่าปกติเช่นนี้จึงสร้างความฮือฮาให้กับผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของช้างป่าในประเทศไทย มีประชากรช้างป่าอาศัยอยู่ประมาณ 300-350 ตัว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรช้างป่าที่ใหญ่ที่สุดของไทย พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งอาหารและน้ำ ทำให้เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับช้างป่า แต่การขยายตัวของชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมรอบอุทยานฯ ทำให้เกิดความท้าทายในการจัดการพื้นที่อาศัยของช้างป่าและลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง
ทั้งนี้ โขลงช้างดังกล่าวยังคงวนเวียนหากินอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไม่ได้ออกนอกพื้นที่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามช้างป่าของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานคอยเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า และเป็นไปตามนโยบายของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ให้มีการติดตามและพัฒนาระบบของศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ข้อมูลและภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน