รวมพลังรัฐ–เอกชน–ชุมชน พลิกฟื้นระบบนิเวศทะเลสาบสงขลา หนุนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

รวมพลังรัฐ–เอกชน–ชุมชน พลิกฟื้นระบบนิเวศทะเลสาบสงขลา หนุนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
เมื่อเร็วๆนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดี ในทะเลสาบสงขลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง จังหวัดพัทลุง พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจำนวน 560,000 ตัว ประกอบด้วย กุ้งก้ามกราม กุ้งกุลาดำ และปลาตะเพียน โดยมี นายธราวุธ ช่วยเกิด รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร ผู้บริหารสูงสุดด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หน่วยงานราชการท้องถิ่นและชุมชนกว่า 200 คน ร่วมให้การต้อนรับ ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมดำเนินงานด้านความยั่งยืนในพื้นที่ พร้อมสนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำ และนำเสนอนิทรรศการ 3 แผนฟื้นฟูระบบนิเวศ เพื่อสร้างสมดุลการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา ณ เขตห้ามล่าสัตว์ทะเลหลวง จ.พัทลุง
นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร ผู้บริหารสูงสุดด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือซีพี - มูลนิธิซีพี ดำเนินโครงการ “ซีพีร้อยเรียงความดี - ทะเลสาบสงขลายั่งยืน (CP Green Lagoon)” มีเป้าหมายหลัก คือการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน ใน 3 แผนงานหลัก คือ แผนงานที่ 1 การอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูระบบนิเวศทะเลสาบสงขลา แผนงานที่ 2 คนต้นแบบ สร้างอาชีพ ส่งเสริมการทำประมงพื้นบ้าน และชุมชนอย่างยั่งยืน โดยฝึกอบรมและพัฒนาทักษะให้ชาวประมง เพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิต และแผนงานที่ 3 การผนึกกำลังทุกภาคส่วน สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการฯ เหล่านี้ไม่เพียงช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ แต่ยังส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างเครือข่ายชาวประมง มีอาชีพที่มั่นคง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรอบ พร้อมทั้งปลูกฝังเยาวชนในพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน
สำหรับการอนุรักษ์ปกป้อง “โลมาอิรวดี” เป็นหนึ่งในแผนงานที่ 1 ที่เครือซีพี โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท (ซีพี) ร่วมกับภาคีเครือข่าย มีการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะกับโลมาอิรวดี ด้วยการสนับสนุนเครือข่ายสร้างซั้งบ้านปลาสำหรับเป็นแหล่งอาหารของโลมาอิรวดี ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มในทะเลสาบ และสร้างกลไกเฝ้าระวังเพื่อลดภัยคุกคามโลมาอิรวดี พร้อมทั้ง สนับสนุนกิจกรรมบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม การลาดตระเวนอาสาประมงพิทักษ์ทะเลสาบ การศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ รวมไปถึงการทำความเข้าใจกับชุมชนโดยรอบ และชาวประมงในพื้นที่ นอกจากนี้ การสนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการสร้างจูงใจในการอนุรักษ์โลมาอิรวดี
ทั้งนี้ โครงการทะเลสาบสงขลายั่งยืน (CP Green Lagoon) ดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด 15 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดสงขลา 8 อำเภอ (ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ สิงหนคร เมืองสงขลา ควนเนียง บางกล่ำ หาดใหญ่) จังหวัดพัทลุง 5 อำเภอ (ควนขนุน เมืองพัทลุง เขาชัยสน บางแก้ว ปากพะยูน) จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 อำเภอ (ชะอวด หัวไทร) รอบพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยที่ผ่านมา ได้สนับสนุนสร้างบ้านปลา (ซั้ง) จำนวน 500 หลัง จากการศึกษาผลค่าดัชนีชีวภาพ พบว่ามีปลาหลากหลายชนิดเพิ่มขึ้น 19 ชนิด จากเดิมมีเพียง 2 ชนิด พร้อมทั้งสนับสนุนปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำสะสม 126,935,000 ตัว นอกจากนี้ ยังดำเนินการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร พร้อมสร้างหลักสูตรไทยลากูน (Thai Lagoon) เพื่อปลุกจิตสำนึกเด็กและเยาวชนในชุมชนรอบลุ่มน้ำทะเลสาบ จำนวน 630 คน ให้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยผนึกกำลังร่วมกับเขตพื้นที่อนุรักษ์ ทะเลสาบสงขลา 20 เขตอนุรักษ์ เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลในระดับประเทศ โครงการฯ เหล่านี้ไม่เพียงช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ แต่ยังส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพที่มั่นคง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรอบพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน