รีเซต

หมูเถื่อน ปัจจัยป่วนคนไทย ทำผู้เลี้ยงหมดอาชีพ เร่งรัฐปราบให้สิ้นซาก

หมูเถื่อน ปัจจัยป่วนคนไทย ทำผู้เลี้ยงหมดอาชีพ เร่งรัฐปราบให้สิ้นซาก
TNN ช่อง16
10 กันยายน 2565 ( 15:10 )
78

“หมูเถื่อน”  หรือ  “หมูกล่อง” กลายเป็นข่าวฮือฮาขึ้น เมื่อสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจับมือกับสมาคมหมูภาคต่างๆ แถลงขอให้ภาครัฐจริงจังในการแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าหมู  หลังจากที่มีขบวนการใหญ่ลักลอบนำเข้าเนื้อหมูชำแหละ และเครื่องในเถื่อนจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย  ด้วยปริมาณที่เข้ามาไม่ต่ำกว่า 1,000 ตู้ต่อเดือน โดยเชื่อว่ามีเงินผลประโยชน์สะพัดไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท และกระจายขายกันเกลื่อนตลาดทั่วประเทศ

หลังการแถลงข่าวของสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เพียงไม่กี่วัน ก็มีข่าวการจับหมูเถื่อนได้เป็นล็อตใหญ่ เรียกว่ายิ่งจับยิ่งเจอก็ว่าได้ ล่าสุดกรมศุลกากรจับหมูแช่แข็งเถื่อนได้ที่จ.มหาสารคาม รวม 8,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1.6 ล้านบาท  ซึ่งลักลอบเข้ามาตามแนวตะเข็บชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน  จากที่ช่วงก่อนหน้า กรมปศุสัตว์ตรวจพบหมูเถื่อนมาเป็นกล่อง จากห้องเย็นแห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ มีปริมาณรวม 5,375 กิโลกรัม รวม 475 กล่อง โดยพบซากหมูต้องสงสัยลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ 4 รายการ ประกอบด้วย ไส้ตันสุกร ระบุข้างกล่องประเทศเยอรมัน   ตับสุกร ระบุข้างกล่องอาเจนติน่า  ไส้สุกร ไม่ทราบแหล่งที่มา  และราวนมสุกร ระบุข้างกล่องเนเธอร์แลนด์

ด้วยช่องว่างจากปริมาณเนื้อหมูในประเทศไทยที่ลดน้อยลง  จากปริมาณหมูพันธุ์ที่หายไปจากระบบ เพราะการระบาดของ ASF  เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา  ทำให้มีผู้อาศัยเป็นช่องทางในการนำหมูเถื่อนเข้ามากระจายในตลาดทั่วประเทศ 

บรรดาหมูกล่องที่พาเหรดเข้ามาขายในราคาต่ำกว่าเนื้อหมูในประเทศอย่างมากเพียง 135-150 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับราคาหมูในประเทศอยู่ที่ 190-200 บาทต่อกิโลกรัม   จัดเป็นราคาที่ล่อใจทั้งผู้บริโภค และร้านค้าต่างๆ โดยเฉพาะร้านหมูกระทะ และร้านชาบู ด้วยเหตุผลที่ว่า "ไวรัสไม่ติดต่อสู่คน" มาเป็นประโยชน์ในการรับซื้อของขบวนการลักลอบนำเข้าหมูกล่องเหล่านี้

นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา บอกว่า ราคาหมูกล่องที่ขายในท้องตลาด เป็นราคาที่ไม่สะท้อนต้นทุนแท้จริงของผู้เลี้ยงหมูไทยที่สูงกว่าปกติมาก จากการทำระบบไบโอซีเคียวริตี้เพื่อป้องกัน ASF และยังต้องแบกรับภาระวัตถุดิบอาหารที่ปรับสูงขึ้น 30%  ราคาน้ำมัน จากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือแม้แต่ค่าไฟฟ้า  รวมถึงค่าแรงที่มีแนวโน้มปรับขึ้นเรื่อยๆ  มั่นใจว่าหมูกล่องที่มีการลักลอบเข้ามาเก็บในห้องเย็นต่างๆ เป็นหมูที่ติดเชื้อ ASF ทั้งหมด  ซึ่งเปรียบเสมือนระเบิดเวลา ที่จะทำให้เกิดการระบาดแบบไม่สิ้นสุด

เนื้อหมูและเครื่องในเถื่อนที่ลักลอบนำเข้าจากประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย บราซิล เยอรมนี เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และสเปน รวมทั้งประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย เป็นชิ้นส่วนที่คนอเมริกันและยุโรปไม่นิยมบริโภค การส่งมาให้ประเทศทางแถบเอเชีย ที่บริโภคหมูทุกส่วน ทั้งเนื้อหมู หัว เครื่องใน ฯลฯ  จึงเป็นการสร้างมูลค่าให้กับขยะเหลือทิ้ง  แต่ชิ้นส่วนต่างๆ ที่มีการนำเข้ามานี้  ก็อาจมีสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อนอยู่ด้วย  เนื่องจากผู้เลี้ยงหมูสหรัฐฯ และบางประเทศของยุโรปสามารถใช้สารจำพวกแรคโตพามีนในการเลี้ยงได้อย่างเสรี  

ขณะที่ประเทศไทยประกาศในกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  “ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูอย่างเด็ดขาด” ผู้ใดลักลอบใช้ถือว่าผิดกฎหมายมีโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2545 จนกระทั่งมีการปรับปรุงประกาศฯ เมื่อ พ.ศ. 2559 เรื่องกำหนดวัตถุดิบที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ รวมถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2546

เนื่องจากผู้บริโภคที่ซื้อเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างไปรับประทาน อาจได้รับอันตราย อาทิ อาการหัวใจเต้นผิดปกติ นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน และจะแสดงอาการอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะกับกลุ่มสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไฮเปอร์ไทรอยด์  ยิ่งในเวลานี้ ที่มีค่าครองชีพสูง  จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคเลือกของถูกเป็นหลัก  อาจได้ไม่คุ้มเสียกับความเสี่ยงที่จะได้รับสารสะสมตามมา

การปราบปรามหมูเถื่อนอย่างเข้มงวดของภาครัฐจากนี้ไปจึงมีความสำคัญอย่างมาก  การลักลอบนำเข้ามาที่ผ่านมา ได้รับการยืนยันจาก พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ว่าเป็นการปะปนมาหลายช่องทาง ทั้งเครื่องบิน ทางทะเล และชายแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน   แล้วรวบรวมสะสมที่ห้องเย็นต่างๆ ซึ่งจากนี้ไป กรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าตรวจตามที่จัดเก็บด้วย

ถึงเวลาที่ภาครัฐต้องกวาดล้างขบวนการหมูเถื่อนอย่างจริงจัง ปกป้องภาคการเลี้ยงหมูให้มีความเข้มแข็ง ผู้เลี้ยงมีอาชีพที่มั่นคง ผู้บริโภคปลอดภัย  มิฉะนั้น อาจกลายเป็นชนวนระเบิดที่ทำลายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู และกระทบเป็นโดมิโนต่อเกษตรกรในห่วงโซ่การผลิตต้องหันหลังให้กับอาชีพไป  และทำลายอาชีพการเลี้ยงสุกรของไทยในที่สุด 


 




ข่าวที่เกี่ยวข้อง