รมช.เกษตรฯ เข้ม ปราบ "หมูเถื่อน" ทั่วประเทศ
นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรเถื่อน ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศสงครามสินค้าเกษตรที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะหมูเถื่อน ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคสัตว์ สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรเนื่องจากเป็นการแทรกแซงกลไกราคาสินค้าภายในประเทศ รวมถึงสร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพผู้บริโภค การแก้ปัญหาหมูเถื่อนจะต้องอาศัยความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในส่วนของกรมปศุสัตว์เองได้เข้มงวดเพิ่มมากขึ้นในการปราบปราม ล่าสุด อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้ส่งหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อขอให้สั่งการปศุสัตว์จังหวัดและปศุสัตว์อำเภอในการเข้มงวดตรวจสอบ ควบคุม กักกัน กำกับดูแลในการเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์ และดำเนินคดีให้เป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด และสั่งการด่านกักกันสัตว์ทุกด่านให้เข้มข้น ในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ก็กำลังดำเนินคดีกับนายทุนและบริษัทลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนอย่างต่อเนื่อง
เตรียมเอาผิดจนท.รัฐ เอี่ยวหมูเถื่อน
ส่วนการขยายผลการดำเนินคดีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน 161 ตู้ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอได้จับกุมกลุ่มชิปปิ้งได้แล้ว 8 คน จากที่ออกหมายจับไปทั้งหมด 10 คน ซึ่งส่วนใหญ่ให้การว่าได้รับจ้างนายทุนมาอีกต่อหนึ่ง ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอศาลอาญาออกหมายจับกลุ่มนายทุนเพิ่มอีก 2 คน
นอกจากนี้ ดีเอสไอยังเตรียมเอาผิดทางอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐของ 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตู้คอนเทเนอร์ทั้ง 161 ตู้ จำนวน 4 คน เนื่องจากมีพฤติการณ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการออกสินค้า
ทั้งนี้ในวันที่ที่ 20 พ.ย. นี้ คณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอจะประชุมเพื่อเตรียมขอศาลอาญาออกหมายค้นและหมายจับบริษัทชิปปิ้งอีก 2 แห่งทีมีความเกี่ยวข้องกับตู้คอนเทเนอร์หมูเถื่อนที่ถูกอายัดไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรีเพิ่มเติมด้วย
เกษตรกรจี้ภาครัฐปราบหมูเถื่อนต่อเนื่อง
ด้านนายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ ปี 2564 ถึงปัจจุบันคาดการณ์ว่าหมูเถื่อนเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 50,000 ตัน หรือประมาณ 2,000 ตู้ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจึงขอเรียกร้องให้ รัฐบาลผลักดันให้เดินหน้าโครงการรักษาเสถียรภาพราคาหมูให้สามารถขายหมูได้ตามโครงสร้างต้นทุนการผลิตอย่างเร่งด่วน เพื่อดูแลแก้ปัญหาราคาตกต่ำอย่างจริงจัง ก่อนที่ผู้เลี้ยงทั่วประเทศจะต้องเลิกประกอบอาชีพในการเลี้ยงหมูและอาจทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
โดยจำนวนผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศช่วงปี 2563-2564 มีอยู่ราว 200,000 - 300,000 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่งฟื้นตัวจากปัญหาโรค ASF ที่ระบาดหนัก และในปี 2566 ผู้เลี้ยงเริ่มทยอยลดจำนวนลงอีกครั้งจากผลกระทบหมูเถื่อน ปัจจุบันทั่วประเทศเหลือผู้เลี้ยงหมูราว 100,000 รายเท่านั้น