รีเซต

ฮุนเซนชี้ 'สนามบิน' ทุนจีน กระตุ้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว เปิดปลายปี 2023

ฮุนเซนชี้ 'สนามบิน' ทุนจีน กระตุ้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว เปิดปลายปี 2023
Xinhua
4 เมษายน 2565 ( 14:08 )
84

เสียมราฐ, 4 เม.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันอาทิตย์ (3 เม.ย.) สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประกาศว่าท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ อังกอร์ ซึ่งลงทุนโดยจีน จะมีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของกัมพูชา เมื่อเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2023

รายงานระบุว่าฮุนเซนได้เดินทางเยือนพื้นที่ก่อสร้างท่าอากาศยานฯ ในเขตโสตนิคุม ซึ่งอยู่ห่างจากอุทยานโบราณคดีอังกอร์หรือนครวัดราว 40 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดเสียมราฐ 50 กิโลเมตร"เราโชคดีที่มีเพื่อนดีอย่างจีน และโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งผลงานของความร่วมมือระหว่างกัมพูชาและจีน" ฮุนเซนกล่าว "ท่าอากาศยานฯ ขนาดใหญ่แห่งนี้จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจทางตอนเหนือของประเทศ ครอบคลุมจังหวัดเสียมราฐ อุดรมีชัย กำปงธม และพระวิหาร"ฮุนเซนอธิบายว่าโครงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่มีเป้าหมายรองรับการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเยือนนครวัด ช่วงหลังการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ (โควิด-19) โดยระยะแรกจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 7 ล้านคนต่อปีอนึ่ง ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ อังกอร์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 4,300 ไร่ ลงทุนโดยบริษัท อังกอร์ อินเตอร์เนชันแนล แอร์พอร์ต อินเวสต์เมนต์ (กัมพูชา) จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือบริษัท อวิ๋นหนาน อินเวสต์เมนต์ โฮลดิงส์ จำกัด ของจีนฮุนเซนเผยว่าท่าอากาศยานฯ ถูกพัฒนาภายใต้สิทธิสัมปทานแบบที่เอกชนเป็นผู้สร้าง ดำเนินงาน ก่อนถูกส่งมอบให้รัฐเมื่อสิ้นสุดอายุสัมปทาน (BOT) เป็นระยะเวลา 55 ปี ซึ่งใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี และดำเนินธุรกิจอีก 50 ปี โดยโครงการนี้เริ่มต้นก่อสร้างเดือนมีนาคม 2020 และช่วยสร้างงานราว 1,900 อัตราด้าน เต็กเรธ สัมราช เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการอำนวยการสร้างท่าอากาศยานฯ เปิดเผยว่าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเสร็จแล้วร้อยละ 19 ส่วนการก่อสร้างรันเวย์มีกำหนดแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคมการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อาทิ อาคารสำนักงานและหอพัก หอควบคุมการจราจรทางอากาศ คลังสินค้า สถานีน้ำมันและท่อส่งน้ำมัน และลานจอดรถ มีกำหนดแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้สัมราชคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมีนาคม 2023 ก่อนเปิดใช้งานในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน หลังจากผ่านกระบวนการยื่นขอใบรับรองความปลอดภัยและความมั่นคง รวมถึงทดสอบระบบสนามบินทั้งหมด"ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ อังกอร์ เป็นท่าอากาศยานนานาชาติระดับ 4E พร้อมรันเวย์ยาว 3,600 เมตร ที่สามารถรองรับการลงจอดของเครื่องบินทุกประเภท นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จใหม่ที่ไม่เพียงเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจกัมพูชา แต่ยังเอื้อประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบด้วย" สัมราชกล่าวยิม โยอึน คนงานวัย 35 ปี เผยว่าเขามีความสุขที่ได้ทำงานในโครงการขนาดใหญ่นี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวของกัมพูชาอย่างมหาศาล พร้อมเสริมว่าได้รับค่าจ้าง 450 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 15,000 บาท) ต่อเดือน และมีโอกาสเรียนรู้ทักษะจากคนจีนด้าน โนล เนตร คนงานวัย 33 ปี เชื่อมั่นว่าคนท้องถิ่นจะได้ประโยชน์มากมายจากโครงการนี้ เพราะจะช่วยสร้างโอกาสในการทำงานให้ลูกหลานของพวกเขา พร้อมขอบคุณจีนที่ลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ทำให้คนท้องถิ่นมีงานทำระหว่างการก่อสร้างอนึ่ง อุทยานโบราณคดีอังกอร์ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก (UNESCO) เมื่อปี 1992 เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่สุดของกัมพูชา โดยสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.2 ล้านคนในปี 2019 และสร้างรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชม 99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3 พันล้านบาท)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง