รีเซต

เรื่องราวเล่าขาล : 'ตราพยัคฆ์' เครื่องบ่งชี้ 'อำนาจทหาร' ของราชสำนัก

เรื่องราวเล่าขาล : 'ตราพยัคฆ์' เครื่องบ่งชี้ 'อำนาจทหาร' ของราชสำนัก
Xinhua
6 กุมภาพันธ์ 2565 ( 17:29 )
75

ปักกิ่ง, 6 ก.พ. (ซินหัว) -- หากคุณมีโอกาสเดินทางเยือนพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์มณฑลส่านซี ก็จะได้ชมโบราณวัตถุชิ้นหนึ่งที่ชาวจีนเรียกกันว่า "ตู้หู่ฝู่" (杜虎符) หรือ "ตราอาญาสิทธิ์รูปพยัคฆ์" ประเภทหนึ่ง โดยเสือตัวเล็กๆ ที่คุณเห็นในภาพนี้คือสัญลักษณ์ของอำนาจทางทหาร ที่ถูกใช้เป็นเครื่องแสดงหลักฐานในการเคลื่อนพลของชาวฉินในยุครณรัฐ หรือจ้านกว๋อ (475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) หรือเมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน

ช่วงทศวรรษ 1970 ชาวนาจีนคนหนึ่งในพื้นที่ตอนใต้ของนครซีอันบังเอิญพบตราพยัคฆ์นี้ในทุ่งนา ก่อนที่เขาจะพบในหลายปีถัดมาว่าบนตัวพยัคฆ์มีอักขระสีทอง จึงทำการส่งมอบให้ทางการ

ตราพยัคฆ์นี้เป็นเสมือนใบรับรองเพื่อยืนยันคำสั่งการจัดสรรหรือเคลื่อนกำลังพล โดยตัวพยัคฆ์แบ่งออกเป็นส่วนซ้ายและส่วนขวา ส่วนขวาจะถูกเก็บรักษาไว้โดยกษัตริย์ผู้ครองแคว้น ขณะที่ส่วนซ้ายจะมอบให้แก่แม่ทัพ ซึ่งก่อนการระดมกำลังทหารนั้นจะต้องนำตราพยัคฆ์ส่วนซ้ายและส่วนขวามาประกบดูก่อนว่าตรงกันหรือไม่

ตราพยัคฆ์ชิ้นนี้ยาว 9.5 เซนติเมตร สูง 4.4 เซนติเมตร อยู่ในท่าเดิน เชิดหัว ม้วนหาง ด้านหลังมีร่องสำหรับประกบ และมีรูเล็กๆ รูหนึ่งที่บริเวณคอ  บนลำตัวมีอักษรสีทอง 40 ตัวรวม 9 บรรทัด

อักษรเหล่านี้บ่งชี้ว่าตราดังกล่าวถูกใช้งานโดยแม่ทัพในพื้นที่ที่เรียกว่าตู้ตี้ ในสมัยฉิน จึงเป็นที่มาของชื่อ "ตู้หู่ฝู่" โดยแม่ทัพจะเป็นผู้ถือส่วนซ้ายเอาไว้ ขณะที่ผู้ครองแคว้นถือส่วนขวา นอกจากนี้อักษรยังเขียนว่าหากต้องการเคลื่อนพลทหารมากกว่า 50 นาย จำเป็นต้องได้รับการยืนยันว่าพยัคฆ์ทั้งสองส่วนสอดคล้องกัน เว้นแต่จะเกิดเหตุฉุกเฉิน

นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่าตรานี้อาจเกี่ยวโยงกับคำว่า "符合" (ฝู่เหอ-แปลตรงตัวว่าตราประกบกัน) คำศัพท์จีนที่ใช้ทั่วไปในปัจจุบันซึ่งมีความหมายว่า "ตรงกัน" "สอดคล้องกัน" อีกด้วย

เฮ่อต๋าซิน ผู้อำนวยการฝ่ายงานบริหารโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ส่านซี กล่าวว่าการใช้ตราทางทหารเพื่อเป็นเครื่องยืนยันการเคลื่อนพลทหารนั้นมีมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์จีน และมีเรื่องราวที่เล่าขานกันทั่วไปเช่นเรื่องของซิ่นหลิงจวินอนุชาเจ้าแคว้นเว่ยที่ขโมยตราพยัคฆ์เพื่อช่วยรัฐจ้าว นอกจากนี้ตู้หู่ฝู่ของพิพิธภัณฑ์ฯ ยังถือเป็นตราทหารสมัยโบราณที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยพบจวบจนถึงปัจจุบัน

เฮ่อกล่าวว่าการตีความอักษรบนตัวพยัคฆ์ ชี้ให้เห็นว่าในสมัยรณรัฐนั้นกำหนดให้ฝั่งขวามีศักดิ์สูงกว่าฝั่งซ้าย และบ่งชี้ว่ารัฐฉินในขณะนั้นมีอำนาจทางทหารค่อนข้างสูง

การใช้ตราสัญลักษณ์รูปสัตว์ ไม่ได้พบแค่ในกิจการทหารเท่านั้น แต่ยังใช้เป็นบัตรประจำตัวหรือใบรับรองการเข้า-ออกในเวลาต่อมา และนอกจากตราพยัคฆ์แล้วก็ยังมีตรามัจฉา และตรารูปเต่าอีกด้วย

เมื่อไม่นานนี้ นักโบราณคดีในส่านซีได้ค้นพบหลุมฝังศพประจำตระกูลขุนนางสมัยราชวงศ์ถังในเมืองเสียนหยาง โดยพบว่าในหลุมศพของขุนนางรายนี้ผู้มีนามว่าหยางเฉวียนเจี๋ย ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของจักรพรรดินีบูเช็กเทียน มีตรามัจฉาซึ่งใช้สำหรับเข้าออกวังหลวง ซึ่งนับว่าพบได้ยากมากเช่นกัน

นอกเหนือจากคุณค่าด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ ตราพยัคฆ์นี้ยังมีคุณค่าทางด้านวิจิตรศิลป์ เพราะความประณีตของมันบ่งชี้ถึงความก้าวหน้าด้านการผลิตโลหะในช่วงปลายยุครณรัฐ ตลอดจนกรรมวิธีที่เรียกว่า "ชั่วจิน" หรือการแกะสลักร่องบนพื้นผิววัตถุก่อนปิดทองและขัดให้มันวาว

ปัจจุบัน ตราพยัคฆ์ซึ่งเคยเป็นตัวแทนของอำนาจของราชสำนักและผู้นำกองทัพ ได้แปรเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่ทั้งสร้างสรรค์และมีลูกเล่นสนุกๆ มากมายถูกใจคนหนุ่มสาว เช่น บิสกิตตราพยัคฆ์ ที่คั่นหนังสือตราพยัคฆ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง