นักโบราณคดีจีนพบเศียรพระพุทธรูป ในผนังถ้ำสาขาหมู่ถ้ำหินหลงเหมิน
(ภาพจากสถาบันวิจัยหมู่ถ้ำหินแกะสลักหลงเหมิน : สภาพถ้ำเหลยกู่ของหมู่ถ้ำหินแกะสลักหลงเหมินหลังจากผ่านการบูรณะฟื้นฟูพื้นที่ในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน)
เจิ้งโจว, 13 เม.ย. (ซินหัว) -- คณะนักโบราณคดีของจีนค้นพบชิ้นงานหินแกะสลักและชิ้นส่วนสิ่งปลูกสร้างภายในถ้ำเหลยกู่ของหมู่ถ้ำหินแกะสลักหลงเหมิน ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งองค์การยูเนสโกในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน จำนวนมากกว่า 80 รายการ
สถาบันวิจัยหมู่ถ้ำหินแกะสลักหลงเหมินระบุว่านักโบราณคดีค้นพบโบราณวัตถุเหล่านี้ในผนังฝั่งตะวันตกของถ้ำเหลยกู่ตอนใต้ระหว่างทำงานบูรณะและค้ำจุนโครงสร้างถ้ำ โดยลู่เหว่ย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยประวัติศาสตร์และมนุษยศาสตร์ของสถาบันฯ เผยว่าเป็นครั้งแรกที่ค้นพบชิ้นงานหินแกะสลักภายในถ้ำของหมู่ถ้ำหินแกะสลักหลงเหมิน
อนึ่ง ถ้ำเหลยกู่ตั้งอยู่ทิศใต้สุดของพื้นที่ตงซานในหมู่ถ้ำหินแกะสลักหลงเหมิน ประกอบด้วยถ้ำสามแห่งที่แบ่งเป็นตอนเหนือ ตอนกลาง และตอนใต้ รวมถึงมีโพรงขนาดเล็กจำนวนมากอยู่บนหน้าผานอกถ้ำ
ลู่กล่าวว่าวัตถุที่ขุดพบประกอบด้วยเศียรพระพุทธรูปสภาพค่อนข้างดี ซึ่งมีขนาดกว้าง 22 เซนติเมตร และสูง 38 เซนติเมตร ซากปฏิมากรรมพระโพธิสัตว์ และเศษชิ้นส่วนประดับผนังที่มีลักษณะเป็นแฉกคล้ายดอกกุหลาบ
โบราณวัตถุเหล่านี้อาจถูกเรียงซ้อนและฝังเข้ากับผนังถ้ำในช่วงกลางจนถึงช่วงปลายราชวงศ์หมิง (ปี 1368-1644) และถูกใช้เป็นวัสดุซ่อมแซมและค้ำจุนผนังถ้ำในยุคโบราณ เมื่อพิจารณาตามการวิเคราะห์ผลสำรวจถ้ำเหลยกู่ในทางโบราณคดีอย่างรอบด้าน กอปรกับเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่างๆ
ลู่เสริมว่าการค้นพบครั้งนี้มีคุณค่าต่อการศึกษาศิลปะการแกะสลักหินในยุคราชวงศ์ถัง (ปี 618-907) ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของถ้ำเหลยกู่ และงานบูรณะและค้ำจุนโครงสร้างในยุคโบราณอย่างมาก
(ภาพจากสถาบันวิจัยหมู่ถ้ำหินแกะสลักหลงเหมิน : เศียรพระพุทธรูปที่ขุดพบภายในถ้ำเหลยกู่ของหมู่ถ้ำหินแกะสลักหลงเหมินในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน)
(ภาพจากสถาบันวิจัยหมู่ถ้ำหินแกะสลักหลงเหมิน : เศียรพระพุทธรูปที่ขุดพบภายในถ้ำเหลยกู่ของหมู่ถ้ำหินแกะสลักหลงเหมินในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน)