รีเซต

แนวคิดมนุษย์ตัดแต่งพันธุกรรม อาจเป็นอนาคตของการเดินทางในอวกาศ

แนวคิดมนุษย์ตัดแต่งพันธุกรรม อาจเป็นอนาคตของการเดินทางในอวกาศ
TNN ช่อง16
13 สิงหาคม 2567 ( 12:40 )
25

มนุษย์มีความตั้งใจที่จะไปตั้งถิ่นฐานบนต่างดาว แต่แน่นอนว่าต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างจากบนโลกของเรา เช่น อาหารที่จะส่งผลเสียต่อร่างกาย ความเสี่ยงจากรังสี ฯลฯ ดังนั้นเพื่อเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ ผู้เชี่ยวชาญบางคนได้เสนอแนวคิดตัดแต่งจีโนม (Genome) ของมนุษย์เพื่อให้สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังที่สนับสนุนแนวคิดนี้ คือ มาร์ติน รีส์ (Martin Rees) นักจักรวาลวิทยาและนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ 


จีโนม (Genome) คือ ข้อมูลทางพันธุกรรม (DNA) ทั้งหมดของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ซึ่งด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้ตั้งแต่ปี 2011 เราสามารถใช้เทคโนโลยีที่มีชื่อว่า Crispr-Cas9 เพื่อตัดแต่งยีนได้ ยังมีเทคนิคที่เรียกว่า Base and Prime Editing ที่ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงจีโนมของสิ่งมีชีวิต 


แซม แม็คคี (Sam McKee) อาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาปรัชญาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์เมโทรโพลิแทน ซึ่งเป็นผู้เขียนบทความของ The Conversation เผยว่า แนวคิดการตัดแต่งยีนนี้มีศักยภาพที่จะทำให้เราก้าวข้ามขีดจำกัดได้อย่างมาก เช่น หนึ่งในปัญหาที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายนักบินอวกาศมากที่สุด คือ การได้รับรังสีปริมาณมากจนอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการต่าง ๆ ในร่างกายรวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในระยะยาว หากมีการตัดแต่งจีโนมก็อาจช่วยให้เราได้รับผลประโยชน์ในหลายด้าน เช่น สามารถแทรกยีนของพืชหรือแบคทีเรียที่สามารถกำจัดรังสีเข้าไปในร่างกายมนุษย์ หรืออาจตัดแต่งยีนเพื่อเป็นการชะลอวัยและต่อต้านการสลายตัวของเซลล์ได้ด้วย


ไม่เพียงเท่านั้น เรายังอาจตัดแต่งพันธุกรรมของพืช เพื่อให้ต้านทานผลกระทบจากสภาพแวดล้อมต่างดาว หรืออาจปรับแต่งยาตามความต้องการของนักบินอวกาศโดยพิจารณาจากองค์ประกอบทางพันธุกรรมเฉพาะบุคคลได้


ทั้งนี้มีสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง คือ ทาร์ดิเกรด (Tardigrade) หรือหมีน้ำ ที่ได้รับการทดลองและพบว่าสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมแบบสุดโต่งได้ เช่น ทนต่ออุณหภูมิสูง แรงดัน รังสีสูง ความอดอยาก และสามารถทนต่อสภาวะสุญญากาศในอวกาศได้ ดังนั้นนักพันธุศาสตร์จึงกระตือรือร้นที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับจีโนมของมัน และนักวิทยาศาสตร์ตั้งคำถามว่า หากในอนาคตเราสามารถตัดต่อยีนของทาร์ดิเกรดใส่ในพืชได้ มันอาจจะสามารถทนต่อรังสีและความเครียดจากสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นหรือไม่ 


รวมถึงหากเราสามารถตัดต่อยีนทาร์ดิเกรดลงในร่างกายของมนุษย์ มันอาจจะทำให้เรามีความสามารถทนทานต่อสภาวะที่เลวร้ายในอวกาศได้มากขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้นักวิทย์ได้เคยพยายามทดลองในห้องแล็ป โดยใส่ยีนทาร์ดิเกรดลงไปในเซลล์ของมนุษย์ ผลลัพธ์พบว่าเซลล์ของมนุษย์ที่ได้รับการตัดแต่งนี้มีความทนทานต่อรังสีเอ็กซ์มากขึ้น


ปัจจุบันการตัดแต่งยีนเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ร่างกายมนุษย์ยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น นอกจากนี้มันยังมีข้อจำกัดในเรื่องของเทคโนโลยีสำหรับการแทรกยีนจากสิ่งมีชีวิตสปีชีส์หนึ่งไปยังอีกสปีชีส์ และที่สำคัญยังมีข้อจำกัดในเรื่องของกฎหมายและจริยธรรม ห้ามการตัดแต่งจีโนม เช่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนชื่อ เหอ เจียนกุ่ย (He Jiankui) ประกาศว่าเขาได้ตัดแต่งยีนต่อต้าน HIV เข้าไปยังทารกฝาแฝดที่ยังไม่เกิดเป็นรายแรกของโลก ซึ่งการกระทำนี้ทำให้เขาถูกจับ แต่ในภายหลังก็ได้รับการปล่อยตัวและได้รับอนุญาตให้ทำการวิจัยอีกครั้ง


ทั้งนี้ แนวคิดด้านการตัดต่อยีนนั้นน่าสนใจ แต่นักวิทยาศาสตร์บางส่วนก็กังวลต่อผลลัพธ์ที่จะตามมาเช่นกัน เช่น บทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ฉบับวันที่ 19 มีนาคม 2015 ซึ่งเขียนโดยนักวิทยาศาสตร์หลายคน โดยอธิบายถึงประโยชน์ทางการรักษาที่ไม่มีความแน่นอน และอาจจะเกิดความเสี่ยงร้ายแรง รวมถึงความเสี่ยงที่ตกทอดไปยังคนรุ่นต่อ ๆ ไปได้ ผู้เขียนงานวิจัยเขียนสรุปความตอนหนึ่งว่า "อันตรายและไม่สามารถยอมรับได้ในทางจริยธรรม" นั่นเป็นเพราะกังวลว่าอาจจะทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ในอนาคต


อย่างไรก็ตาม แซม แม็กคี (Sam McKee) แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ในอนาคตกฎหมายเหล่านี้จะลดความเข้มงวดลง เนื่องจากหากประเทศใดที่สามารถทำการทดลองสำเร็จ ก็จะได้รับผลประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์และเศรษฐกิจอย่างมาก และนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นจะมีศักยภาพอย่างมาก ในการสนับสนุนการขยายตัวของมนุษย์ออกไปยังจักรวาล แต่แน่นอนว่าก่อนจะไปถึงจุดนั้นสังคมต้องยอมรับในเรื่องการตัดแต่งพันธุกรรมก่อน เราทำได้เพียงคาดเดาด้วยความอยากรู้และตื่นเต้นเท่านั้น


ที่มาข้อมูล The Conversation, ScienceAlert

ที่มารูปภาพ SpaceX

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง