รีเซต

8 เรื่องของบิดาแห่งระเบิดปรมาณู “J. Robert Oppenheimer”

8 เรื่องของบิดาแห่งระเบิดปรมาณู “J. Robert Oppenheimer”
TNN ช่อง16
21 กรกฎาคม 2566 ( 10:28 )
155
8 เรื่องของบิดาแห่งระเบิดปรมาณู “J. Robert Oppenheimer”

เจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ชายผู้ได้รับการขนานนามให้เป็นบิดาแห่งระเบิดปรมาณู เนื่องจากเขาได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการสร้างระเบิดปรมาณูเพื่อยุติสงครามในโครงการแมนแฮตตันสมัย สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนี่คือ 8 เรื่องจริงบิดาแห่งระเบิดปรมาณู ที่คุณอาจไม่เคยรู้


เขาคือคนแรกที่นำเสนอการมีอยู่ของหลุมดำ 

ในปี 1939 เจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “การหดตัวของแรงโน้มถ่วงอย่างต่อเนื่อง (On Continued Gravitational Contraction)” ซึ่งเขาร่วมเขียนกับฮาร์ทแลนด์ สไนเดอร์ (Hartland Snyder)


โดยในบทความดังกล่าวคาดการณ์ว่าในส่วนลึกของอวกาศน่าจะมีดาวฤกษ์ที่กำลังจะตายซึ่งมีแรงดึงดูดเกินกว่าการผลิตพลังงานของพวกมัน หรือก็คือหลุมดำที่มนุษยชาติรู้จักในภายหลัง


เคยถูกอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) เรียกว่าคนโง่ 

จากความตึงเครียดของสถานการณ์ทางการเมืองสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) และเจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์มีความเห็นที่ต่างกันเล็กน้อย โดยมีครั้งหนึ่งที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์พูดกับเลขาของเขาว่า “คนโง่มาแล้ว” ระหว่างที่พยักพเยิดใบหน้าไปทางเจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์


เขาเคยวางยาอาจารย์สมัยที่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ (Cambridge University) 

ฟรานซิส เฟอร์กูสัน (Francis Fergusson) เพื่อนของเจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์อ้างว่าเขาเคยยอมรับกับตน ว่าเขาเคยเจือยาพิษในแอปเปิลของศาสตราจารย์แพทริค แบล็คเก็ตต์ (Patrick Blackett) สมัยที่เขาเป็นนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ (Cambridge University)


เขาเคยถูกประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน (Harry Truman) ว่านักวิทยาศาสตร์ขี้แง 

เพียง 2 เดือน หลังจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ เจ. รอเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ได้พบกับประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน (Harry Truman) เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อกังวลของเขาเกี่ยวกับสงครามนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตกับสหภาพโซเวียต ซึ่งเขาได้พูดประโยคหนึ่งระหว่างจับมือกับประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมนว่า “ท่านประธานาธิบดี ผมรู้สึกว่ามือเปื้อนเลือด”


หลังจากนั้นประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมนจึงเขียนว่าบิดาแห่งระเบิดปรมาณูเป็นนักวิทยาศาสตร์ขี้แง “เขามาที่ออฟฟิศของผมเมื่อประมาณ 5 หรือ 6 เดือน ก่อนและใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการครุ่นคิดกับมือของเขาและบอกผมว่ามือของเขาเปื้อนเลือดเพราะการค้นพบพลังงานปรมาณู”


ก่อให้เกิดกลุ่มนิมนิมบอยส์ (nim nim boys) 

ในช่วงปี 1960 เจ. รอเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ได้รับโอกาสไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จนก่อให้เกิดกลุ่มนิมนิมบอยส์ (nim nim boys) ตามเพลงนิมนิมที่เขามักจะฮัมอยู่บ่อย ๆ ซึ่งกลุ่มนิมนิมบอยส์คือกลุ่มนักศึกษาที่ชื่นชอบในตัวออพเพนไฮเมอร์มาก จนเลียนแบบการแต่งกาย, กิริยาท่าทางและยี่ห้อบุหรี่ที่เขาสูบ


เขาพูดได้ถึง 6 ภาษา รวมถึงภาษาสันสกฤตโบราณ 

เจ. รอเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์หลงใหลในมนุษยศาสตร์และสามารถพูดได้ถึง 6 ภาษา รวมถึงภาษาสันสกฤตโบราณด้วย ซึ่งเขาได้เรียนรู้ภาษาสันสกฤตโบราณ เพื่อที่จะได้อ่านคัมภีร์ภควัทคีตาของฮินดู ระหว่างพักร้อนในเกาะคอร์ซิกา ประเทศฝรั่งเศส เพื่อรักษาอาการซึมเศร้า


ตอนอายุ 12 ปี เขาถูกเข้าใจผิดว่าเป็นนักธรณีวิทยามืออาชีพ 

ตอนที่เจ. รอเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ อายุได้ 12 ปี เขาถูกเข้าใจผิดว่าเป็นนักธรณีวิทยามืออาชีพและได้รับเชิญให้ไปบรรยายในสโมสรแร่แห่งนิวยอร์ก (New York Mineralogy Club) เนื่องจากเขาหลงใหลในคริสตอลมาตั้งแต่ 7 ขวบ จึงเริ่มสะสมแร่ต่าง ๆ และใช้เครื่องพิมพ์ดีดของครอบครัวเพื่อเริ่มติดต่อกับนักธรณีวิทยาท้องถิ่น


โดยเหล่านักธรณีในสโมสรหัวเราะทันทีที่เห็นเจ. รอเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์วัย 12 ปี และทราบว่าเขาถูกเชิญมาเพราะความเข้าใจผิด แต่ถึงกระนั้นเขาก็ได้รับเกียรติให้กล่าวสุนทรพจน์บนเวทีของสโมสรและได้รับเสียงปรบมืออย่างล้นหลาม


เขาตั้งชื่อรหัสการทดสอบระเบิดปรมาณูครั้งแรกเพื่อให้เกียรติภรรยานอกสมรสที่เสียชีวิต 

ในปี 1936 เจ. รอเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ได้แอบคบหากับ ฌอง แทตล็อค (Jean Tatlock) ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายด้วยโรคซึมเศร้าในปี 1944 ซึ่งเธอได้แนะนำให้เจ. รอเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์รู้จักกับบทกวีของจอห์น ดอนน์ (John Donne) โดย เจ. รอเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ ตั้งชื่อรหัสการทดสอบระเบิดปรมาณูครั้งว่า ทรินิตี้ (Trinity) ซึ่งดึงมาจากบทกวีดังกล่าว

ข้อมูลจาก livescience

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง