จุดความร้อนภาคเหนือพุ่ง เชียงใหม่สั่งงดเผาเด็ดขาด19-20ก.พ.นี้ หลังพบการระบายอากาศไม่ดี เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พล.ต.ถนัดพล โกศัยเสวี รองแม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะรองผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า จากการรายงานของกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า (บก.คฟป.ทภ.3 สน.) พบว่า ช่วงนี้ลักษณะอากาศทั่วไปบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางยังคงปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศหนาว ส่งผลต่อการสะสมของฝุ่นละอองและหมอกควันมากขึ้น ซึ่งบางพื้นที่ยังมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงก่อนเข้าสู่ช่วงของการหยุดเผาในเดือนมีนาคม เช้าวันนี้ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือพบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 32 – 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่า PM 10 ระหว่าง 48 – 104 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI ระหว่าง 46 – 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งคุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับดีถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะที่ ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน และ ต.แม่ปะ อ.เมือง จ.ตาก พบมีค่า PM 2.5 ค่า PM 10 และ ค่า AQI อยู่ในระดับที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพ โดยมีจุดความร้อน หรือ Hotspot สะสม ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จากระบบดาวเทียมระบบ VI Hotspot IRS จำนวน 666 จุด โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 387 จุด พื้นที่ป่าสงวนฯ จำนวน 240 จุด และเขต สปก. จำนวน 19 จุด พ.ท.มนต์ศักดิ์ ประเสริฐสังข์ ครูการบิน โรงเรียนการบินทหารบก ปฏิบัติหน้าที่ หัวหน้า นักบิน เฮลิคอปเตอร์งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แบบ 32 (ฮ.ปภ.32) เปิดเผยว่า ในห้วงวันที่ 14 – 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เฮลิคอปเตอร์งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แบบ 32 (ฮ.ปภ.32) ปฏิบัติการบินเพื่อควบคุมไฟป่าในพื้นที่ ต.ก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน และ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ จำนวน 42 เที่ยวบิน ปริมาณน้ำ 84,000 ลิตร ชั่วโมงการบินของอากาศยาน จำนวน 26 ชั่วโมง 30 นาที นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยภายหลังนำคณะลงพื้นที่บ้านทุ่งแดง หมู่ 1 ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ว่า ได้เข้าไปติดตามการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในป่าบริเวณเส้นทางขึ้นวัดพระธาตุผาจองชัยมงคล โดยมีการใช้โดรนในการตรวจสอบพื้นที่เกิดไฟไหม้ป่า เพื่อให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีมาตรวจสอบพิกัดในการเกิดไฟป่า เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าไปดับไฟของเจ้าหน้าที่ที่สามารถเดินทางเข้าไปได้อย่างรวดเร็ว การลดจุดความร้อนลงไป การเกิด PM 2.5 ก็จะลดลง ปีนี้พยายามบริหารจัดการเชื้อเพลิง ป้องกันไม่ให้เศษไม้ ใบไม้ทั้งหลายลุกลามเป็นพื้นที่ที่ถูกเพลิงไหม้เสียหายขนาดใหญ่ การบริหารจัดการเชื้อเพลิงผสมผสานกับการทำแนวกันไฟ และการขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนที่ทำกินในพื้นที่เขตป่า หรือแนวที่อยู่ติดกับป่า ก็มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน “ภาพรวมทางโซนใต้ที่มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึงปัจจุบัน ในพื้นที่ที่เตรียมบริหารจัดการเชื้อเพลิงประมาณแสนกว่าไร่ เมื่อบริหารจัดการเชื้อเพลิงก็สามารถควบคุมพื้นที่ที่เชื้อเพลิงเหลือแค่ 70,000 ไร่ ถ้าประเมินกับเจ้าของพื้นที่ที่ดูแลป่า ก็จะสามารถป้องกันพื้นที่ได้ถึง 5 เท่า เรายอมสละพื้นที่ส่วนหนึ่ง เพื่อรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ไว้ และแนวทางการศึกษาร่วมกันกับประชาชนและผู้ที่อยู่ในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ที่ต่อสู้กับสถานการณ์ไฟป่าในแต่ละปี ร่องไฟหรือแนวไฟไปทางไหน แล้วทำให้ในการเข้าไปดับไฟมีปัญหาไม่สามารถขึ้นไปดับไฟได้ ก็เข้าไปกันพื้นที่ตรงนั้น แล้วพื้นที่ที่มีความเหมาะสมก็ใช้วิธีการทำแนวกันไฟตามปกติ และพื้นที่ที่มีความจำเป็นที่ต้องบริหารจัดการเชื้อเพลิงก็ใช้วิธีการจัดการตามระบบ ในช่วงประมาณเดือน มีนาคม – เมษายน เป็นช่วงที่ป่าของจังหวัดเชียงใหม่ค่อนข้างแห้ง และเสี่ยงเกิดไฟไหม้ป่าได้” นายเจริญฤทธิ์ กล่าว ผศ.ดร.ชาคริต โชตอมรศักดิ หัวหน้าคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการคาดการณ์ลักษณะอากาศใน 3 วันข้างหน้า ในช่วงวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ มีโอกาสที่จะเกิดฝนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ กระจายเป็นแห่งๆ ซึ่งจะไม่ครอบคลุมพื้นที่มากเช่นที่ผ่านมา ทำให้มีทั้งด้านดีและอาจจะส่งผลให้จุดความร้อนในพื้นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไปอีก เพราะการระบายอากาศอยู่ในระดับที่ไม่ดี ทางศูนย์บัญชาการฯ จึงตัดสินใจว่าในวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ ให้งดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงทุกชนิดในทุกพื้นที่จ.เชียงใหม่