รีเซต

มช.นำศิลปะสู่ชุมชน ชุบชีวิตพื้นที่ว่างเปล่าให้มีสีสัน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

มช.นำศิลปะสู่ชุมชน ชุบชีวิตพื้นที่ว่างเปล่าให้มีสีสัน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
มติชน
1 ธันวาคม 2563 ( 16:24 )
257
มช.นำศิลปะสู่ชุมชน ชุบชีวิตพื้นที่ว่างเปล่าให้มีสีสัน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

การท่องเที่ยวตามรอยวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะชุมชนล้านนาที่มีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันโดดเด่นมากมายและกระจายตัวอยู่ทั่วเมืองเชียงใหม่ เช่นเดียวกับบ้านทุ่งเสี้ยว อ.สันป่าตอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะวิจิตรศิลป์ ร่วมสืบสานเอกลักษณ์ วิถีชีวิตพื้นบ้าน ด้วยโครงการศิลปกรรมชุมชน  สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมบนผนังศาลาวัด ณ วัดศรีนวรัฐ ซึ่งเริ่มดำเนินการและมีพิธีเปิดไปแล้วเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ.2562 ยังผลให้เกิดความสวยงามแก่ผู้พบเห็น และเป็นเส้นทางการเรียนรู้แหล่งใหม่ในปัจจุบัน

 

 

ด้วยเจตนารมณ์ของคณะวิจิตรศิลป์ที่ต้องการนำศิลปะเข้าไปช่วยชุมชน เพื่อชุบชีวิตพื้นที่ว่างเปล่าให้มีสีสันขึ้นมา ซึ่งภาพวาดบนผนังเป็นภาพ 2 มิติ บอกเล่าเรื่องราวสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญต่างๆ ของชุมชนบ้านทุ่งเสี้ยว โดยต้องใช้ความเชี่ยวชาญของคณาจารย์จากหลากหลายสาขา ตั้งแต่การลงพื้นที่เก็บรายละเอียด ถ่ายภาพสถานที่สำคัญ  เช่น วัด ศูนย์หัตกรรม พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตา เป็นต้น จนได้เป็นภาพวาดที่สวยงามบนผนังวัด ไม่เพียงแต่คณาจารย์เท่านั้นที่มีบทบาทสำคัญ นักศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มภาพวาดครั้งนี้ให้สมบูรณ์ เนื่องจากคณะได้มีการเรียนการสอนที่ให้นักศึกษานำทักษะการการเรียนรู้ไปปฏิบัติงานจริงนอกห้องเรียน ได้ฝึกงานร่วมกับชุมชน เป็นการสร้างประสบการณ์และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้ จากภาพวาดบนผนังศาลาวัด ณ วัดศรีนวรัฐ กลายเป็นแผนที่ท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ที่นักเดินทางต่างให้ความสนใจตามรอยเส้นทาง อีกทั้งภายในวัดยังมีตลาดพื้นบ้าน ที่เรียกว่า กาดก้อม กองเตียว เป็นตลาดชุมชนไทเขินที่จำหน่ายทั้งอาหารและสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น ในอนาคตทางชุมชนจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ เป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่น สร้างอัตลักษณ์ที่ทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี

 

 

จากความสำเร็จของโครงการศิลปะชุมชนถูกต่อยอดเชิงบูรณาการ โดยคณะวิจิตศิลป์ ร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในการช่วยบูรณะซ่อมแซมกุฏิวัดและจัดทำพื้นที่บริเวณโดยรอบเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นแหล่งความรู้เชิงประวัติศาสตร์ ให้กับ นักเรียน นักศึกษาและผู้ที่สนใจ ตามวัตถุประสงค์ของวัดที่ต้องการให้เป็นรูปแบบของ “บวร” หรือ บ้านวัดโรงเรียน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความเข้มแข็งของชุมชนอย่างแท้จริง

 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถาบันที่มีแขนงวิชาความรู้ที่หลากหลาย การนำองค์ความรู้ ต่อยอดภูมิปัญญา ไปช่วยพัฒนาชมชุน ตามแนวทางยุทธศาสตร์เชิงรุก ด้านล้านนาสร้างสรรค์ คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยดำเนินการมาโดยตลอด และขอเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยมุ่งหวังที่จะให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นแรงขับเคลื่อน ให้เกิดอาชีพ เกิดการกระจายรายได้  สู่ความยั่งยืนและความสุขของผู้คนในชุมชนสืบไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง