โอลิมปิกก่อนปี 1950 มีการแข่งขัน “ศิลปะ 5 แขนง” ในฐานะกีฬาด้วย | Chronicles
ปกติเวลานึกถึงโอลิมปิก มักจะเป็นการแข่งขันกีฬาที่ขับเคี่ยวศักยภาพและความแข็งแกร่งของนักกีฬา เพื่อชิงชัยสู่เป้าหมายเหรียญทองอันทรงเกียรติ ไม่ว่าจะเป็นประเภทเดี่ยวหรือประเภททีม
แต่จริง ๆ แล้ว ช่วงก่อนคริสต์ทศวรรษที่ 1950 รู้หรือไม่ว่า โอลิมปิกจัดการแข่งขัน “ศิลปะ 5 แขนง” ได้แก่ สถาปัตยกรรม วรรณกรรม ดนตรี จิตรกรรม และประติมากรรม ซึ่งอาจดูขัดแย้งกับภาพลักษณ์กีฬาทางกายภาพดังที่เห็นในปัจจุบัน
ย้อนไปในโอลิมปิก 1912 ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ริเริ่มให้เกิดการแข่งขันศิลปะขึ้นเป็นครั้งแรก ตามดำริของ ปิแอร์ เดอ คูแบร์แตง ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ด้วยความคิดว่า โอลิมปิกไม่ได้เป็นเรื่องของการแข่งขันกีฬาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความงาม อย่างศิลปะ-วิทยาการต่าง ๆ ด้วย ดังนั้น จึงควรบรรจุการแข่งขันลักษณะนี้ในโอลิมปิกเช่นกัน เพราะหากขาดการประชันทางสุนทรีย์เช่นนี้ โอลิมปิกก็ไม่อาจจะสมบูรณ์ได้
จริง ๆ ปิแอร์ เดอ คูแบร์แตง เสนอการแข่งขันด้านศิลปะตั้งแต่โอลิมปิกครั้งแรก (เอเธนส์ 1896) ซึ่งแม้ไม่ได้รับการตอบรับ แต่เขาเสนอมาเรื่อย ๆ จนมาสำเร็จในปี 1912 โดยเป็นการแข่งขันของศิลปะ 5 แขนง ตามที่กล่าวไป
รูปแบบการแข่งขัน ในส่วนสถาปัตยกรรม จะให้แข่งกันเขียนแบบสนามกีฬาสำหรับจัดโอลิมปิก ในส่วนดนตรีให้แข่งกันบรรเลงเพลงพิธีเปิดโอลิมปิก ในส่วนวรรณกรรมให้แข่งแต่งคำประพันธ์ร้อยกรอง และในส่วนประติมากรรมและจิตรกรรม ให้แข่งปั้นรูปปั้นและวาดภาพอิริยาบทของนักกีฬาที่เข้าแข่งขัน
ที่น่าสนใจคือ คูแบร์แต็งได้แอบเข้าแข่งขันในส่วนนี้ที่โอลิมปิก 1912 โดยปลอมตัวและใช้นามแฝง ทั้งยังชนะเลิศเหรียญทองในการแข่งขันส่วนวรรณกรรม ด้วยผลงานร้อยกรอง “Ode to Sports”
การแข่งขันศิลปะ 5 แขนงในโอลิมปิกได้รับความนิยมอย่างมาก จึงจัดขึ้นในโอลิมปิกครั้งต่อ ๆ ไปเรื่อยมา จนกระทั่ง คูแบร์แต็ง หมดสมัยประธานลง และเก้าอี้ตกเป็นของ เอเวรี บรุนเดจ ที่อยากให้โอลิมปิกมีแต่กีฬาเท่านั้น
เอเวรี บรุนเดจ ให้เหตุผลว่า การแข่งขันทางด้านศิลปะมีเรื่องของการสร้างชื่อเสียงและเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้อง ศิลปินมักจะมาชุบตัวด้วยโอลิมปิกเพื่อเป็นบันไดไปสู่ระดับอาชีพ
ในที่สุด โอลิมปิก 1948 ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ กลายเป็นครั้งสุดท้ายที่มีการแข่งขันศิลปะ 5 แขนง ซึ่งตราบจนปัจจุบัน การแข่งขันแนวนี้ก็ไม่ปรากฏให้เห็นอีกเลย
Chronicles by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]
แหล่งอ้างอิง
- หนังสือ The Forgotten Olympic Art Competitions
- บทความ In Search of the Lost Champions of the Olympic Art Contests
- https://www.smithsonianmag.com/arts-culture/when-the-olympics-gave-out-medals-for-art-6878965/