เคล็ดลับ เข้าซื้อหุ้น IPO ยังไงไม่ให้พลาด
จากกระแสการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของหุ้นน้องใหม่ (IPO) ทำให้นักลงทุนหันกลับมาทำกำไรในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น PTTOR KISS ฯลฯ จึงมีหลายคนที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในด้านการลงทุน ให้ความสนใจอยากเข้ามาเกาะกระแสกันบ้าง วันนี้ trueID จะมาเผยเคล็ดลับการเข้าซื้อ IPO ว่าจะทำยังไงให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด จะเป็นอย่างไรไปดูกัน
รวมหุ้น IPO ที่จะเปิดตัว ล่าสุด
หุ้น IPO คืออะไร?
หุ้น IPO (Initial Public Offering) คือ หุ้นที่มีการซื้อขายเป็นครั้งแรกให้กับประชาชนโดยทั่วไปเพื่อที่จะมาจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีข้อกำหนดพื้นฐานถึงคุณสมบัติของบริษัทที่ต้องการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่ากับว่าบริษัทที่เข้ามาเสนอขายหุ้น IPO ได้ผ่านมาตรฐานการกลั่นกรองจากตลาดหลักทรัพย์ฯมาแล้วในระดับหนึ่ง
ลักษณะของหุ้น IPO
ตามชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นหุ้นใหม่ที่เพิ่งจะมีการซื้อขายในตลาด ดังนั้นความแตกต่างของหุ้นชนิดนี้เมื่อเทียบกับหุ้นโดยทั่วไป คือ การที่หุ้นยังไม่เคยซื้อขาย เราจึงไม่รู้ราคาตลาดที่แน่นอน ไม่มีราคาสูงสุด ต่ำสุด แนวต้าน – แนวรับ ทางเทคนิค ทำให้ราคาหุ้นสามารถวิ่งขึ้นไปได้เรื่อยๆ หรือในทางตรงข้ามหุ้นอาจจะมีราคาต่ำจองได้เป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งหุ้นตัวนี้เป็นที่รู้จัก มีการเรียนรู้พื้นฐานของบริษัทและเปรียบเทียบกับหุ้นตัวอื่นๆ ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน หลังจากนั้นราคาเริ่มปรับตัวไปสู่พื้นฐานที่ควรจะเป็น
การจองซื้อหุ้น IPO
เนื่องจากหุ้น IPO มีจำนวนหุ้นที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับนักลงทุนทั้งหมด ทำให้คนที่จะได้หุ้นจองมีเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นแม้ว่าเราจะได้วิเคราะห์เป็นอย่างดีแล้วว่าหุ้นตัวนี้เป็นหุ้นที่ดี แต่เราอาจไม่สามารถซื้อได้ก็เป็นได้ โดยทั่วไปแล้วนักลงทุนจะสามารถซื้อหุ้น IPO ได้ใน 2 ลักษณะ ดังนี้
1. กรณีจองซื้อหุ้น IPO ก่อนเข้าตลาด
จากสถิติของการลงทุนในหุ้น IPO ที่ผ่านมา ถ้าสภาพตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่ดี หุ้น IPO ที่เข้าซื้อขายวันแรกจะมีโอกาสยืนเหนือราคาจองได้และมักให้ผลตอบแทนสูงกว่าราคาจอง ดังนั้นการจองซื้อหุ้น IPO จึงนับเป็นการลงทุนที่มีโอกาสในการทำกำไรสูงภายในช่วงเวลาสั้นๆ ในทางตรงกันข้ามหากสภาพเศรษฐกิจไม่ดี หุ้น IPO นั้นก็อาจมีโอกาสที่จะมีราคาซื้อขายที่ต่ำกว่าราคาจอง ส่งผลให้เราขาดทุนได้เช่นกัน
2. ซื้อหุ้น IPO ในตลาดเมื่อหุ้นนั้นเข้ามาซื้อขายแล้ว
การลงทุนในช่วงนี้ นักลงทุนจะต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานของหุ้น IPO อย่างละเอียดรอบคอบ และไม่ควรรีบร้อนเข้ามาลงทุนหุ้น IPO ในช่วง 1 เดือนแรกของการซื้อขาย เพราะในช่วงแรกๆ ของการซื้อขายนั้น จะมีการเก็งกำไรอยู่ค่อนข้างสูง ทำให้ราคาหุ้นมีความผันผวนมาก ดังนั้นนักลงทุนจึงควรรอให้หุ้น IPO เข้าซื้อขายผ่านไปแล้วสักระยะ เพื่อให้ราคาหุ้นเริ่มมีเสถียรภาพ และสะท้อนปัจจัยในเชิงพื้นฐานของธุรกิจได้ดีขึ้น ทำให้ช่วยลดโอกาสในการขาดทุนลงและช่วยเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาวให้ดีขึ้นได้
ลงทุนหุ้น IPO ยังไงไม่ให้พลาด
จากลักษณะดังกล่าวทำให้หุ้นใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาดจึงเป็นที่นิยมของนักเก็งกำไร โดยเฉพาะหากเป็นบริษัทที่มีหุ้นหมุนเวียนอยู่จำนวนไม่มาก เพราะการดันราคาจะทำได้ไม่ยาก
ก่อนที่จะนักลงทุนจะทำการจองหุ้น นักลงทุนสามารถขอดูหนังสือชี้ชวน Filling ซึ่งภายในจะมีข้อมูลสำคัญเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ ดังนี้
ตรวจสอบบริษัทฯ
อันดับแรกเลยที่เราควรจะทราบก็คือ หุ้นบริษัทนี้ทำธุรกิจอะไร ขายอะไรหรือให้บริการอะไร ส่วนใหญ่จะดูทั้งในแง่ภาพใหญ่ว่า หุ้นตัวดังกล่าวอยู่ในเทรนของการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมหรือไม่ เพราะปัจจัยตัวนี้จะเป็นตัวดันให้เกิดการเติบโตในระยะยาวได้ นอกจากนี้แล้วจะต้องดูในส่วนของ Business Model ของธุรกิจด้วยว่าเป็นอย่างไร อยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันเป็นอย่างไร และมีความได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งต่างๆ ได้หรือไม่ มีลักษณะของการผูกขาดหรือไม่ นอกจากวิเคราะห์หุ้น IPO ที่นักลงทุนสนใจแล้ว นักลงทุนควรต้องวิเคราะห์บริษัทอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันว่า มีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร และมีราคาหุ้นเป็นอย่างไร เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ
ประเมินมูลค่าหุ้น ที่เหมาะสมก่อนทุกครั้ง
การซื้อหุ้นทุกครั้ง ไม่ใช่แค่หุ้น IPO เท่านั้น สิ่งสำคัญคือ นักลงทุนควรประเมินมูลค่าหุ้นก่อนทุกครั้ง ควรหาหุ้นที่มีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง บางคนอาจจะใช้มูลค่าการประเมินจากบทวิเคราะห์ต่างๆ ก็ได้ หรือถ้าอยากลองคิดเองเอาแบบไม่ยาก ก็ลองหาค่า P/E หรือ P/BV เพื่อเปรียบเทียบมูลค่าความถูกแพงของหุ้นกับอุตสาหกรรมนั้นๆ หรือหุ้นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันด้วยก็ได้ ซึ่งหุ้น IPO เหล่านี้มักจะเป็นหุ้นที่เพิ่งเข้ามาในตลาดได้ไม่นาน ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้จึงจะหาได้ยากกว่าหุ้นปกติทั่วไปที่อยู่ในตลาดหุ้นมาแล้วในระยะหนึ่ง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนจะต้องทำการบ้านเพิ่มเติมให้ดีๆก่อน หรือลองสอบถามไปยังโบรคเกอร์ที่เราใช้บริการอยู่ก็ได้เช่นกัน ใช้โบรคเกอร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไหนๆเราก็เสียค่าคอมมิชชั่นกันไปแล้ว
ผลดำเนินงานและงบการเงินที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
ส่วนนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากหลายบริษัทที่มีชื่อเสียง เรารู้จักกันอย่างคุ้นหู อาจจะมียอดขายที่ดีแต่กำไรที่มอบให้ผู้ถือหุ้นอาจจะไม่ได้ดีนักก็ได้ ส่วนนี้เราจะต้องเข้าใจโครงสร้างของธุรกิจว่า ฐานะทางการเงินเป็นอย่างไร ยอดขายสินค้าและบริการนั้นมาจากอะไร มีการเติบโตในแต่ละปีที่ผ่านมามากแค่ไหน รวมถึงต้นทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง ยิ่งเราเข้าใจโครงสร้างของงบการเงินได้มากขึ้นเท่าไหร่ เราก็สามารถโยงภาพไปถึงตัวกิจการได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
วัตถุประสงค์ในการระดมทุน
บริษัทส่วนใหญ่ก็จะหนีไม่พ้นเรื่องการขยายกิจการ นำเงินไปชำระหนี้สิน และนำเงินที่ได้มาเป็นทุนหมุนเวียนในการทำกิจการ ส่วนที่น่าสนใจและควรจะศึกษาก็คือแผนในอนาคตของธุรกิจ จากผู้บริหาร ว่าเขาจะนำเงินไปทำโครงการใหม่ๆอะไรบ้าง แน่นอนว่าการลงทุนนั้นเป็นเรื่องของอนาคตและมีความเสี่ยง สิ่งที่เราในฐานะนักลงทุนควรจะศึกษาเพิ่มก็คือการลงทุนดังกล่าวนั้นน่าจะทำให้บริษัทเกิดผลกำไรมาให้เราได้อย่างไรบ้าง ทั้งในแง่ของตัวธุรกิจ การเติบโตและความต้องการของสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมนั้นๆ
พิจารณาผู้ถือหุ้น
การออกหุ้น IPO นั้นจะต้องมีการจัดสรรหุ้นให้กับทั้งผู้ถือหุ้นเดิมและนักลงทุนกลุ่มใหม่ด้วยนะครับ สิ่งที่เราจะต้องดูในเรื่องนี้ก็คือโครงสร้างของผู้ถือหุ้นในแบบเก่าและใหม่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ต้องอย่าลืมว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่นั้นสามารถตั้งทีมงานบริหารได้และนำไปสู่การออกนโยบายต่างๆ ที่ทำให้ธุรกิจเจริญเติบโตได้ครับ บางทีพอเราเห็นว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นและผู้บริหารกลุ่มเดิมยังอยู่ แต่สัดส่วนการถือหุ้นลดลงไป มันก็อาจจะมีความเสี่ยงในอนาคตได้เช่นเดียวกัน
โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ว่าเป็นใคร มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน และสัดส่วนการถือหุ้นว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือถือหุ้นกระจายคนละนิดละหน่อย เพราะถ้าเป็นอย่างหลัง เมื่อเข้าตลาดแล้ว อาจมีการขายหุ้นทิ้ง เมื่อพ้นระยะเวลาห้ามขาย ส่งผลถึงราคาของหุ้นและความน่าเชื่อถือของบริษัทในอนาคตได้
สภาวะการลงทุน
ในขณะที่หุ้น IPO เข้าตลาดก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา เพราะหากสภาพตลาดมีแนวโน้มที่ไม่ดี อาจส่งผลให้เมื่อเข้าตลาดแล้ว หุ้นนั้นมีราคาต่ำจอง และทำให้เราขาดทุนได้
เหล่านี้คือปัจจัยหลักของการตัดสินใจเข้าซื้อ IPO และอย่าลืมคำนวณในเรื่องของราคาหุ้นก่อนนะครับว่าพอหุ้นเข้าใหม่เข้ามาแล้ว Market Cap ของหุ้นตัวนี้เป็นเท่าไหร่ เทียบกับกำไรที่ผ่านมาแล้วดูความถูกแพงของหุ้นดูว่าราคาน่าลงทุนหรือเปล่าและราคาไหนที่น่าซื้อ
ข้อมูล : moneybuffalo , aommoney , scb