รีเซต

ยาน Orion ถึงดวงจันทร์โคจรผ่านด้านไกลของดวงจันทร์ครั้งแรกในภารกิจ ​Artemis I

ยาน Orion ถึงดวงจันทร์โคจรผ่านด้านไกลของดวงจันทร์ครั้งแรกในภารกิจ ​Artemis I
TNN ช่อง16
22 พฤศจิกายน 2565 ( 11:09 )
102

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เวลา 19.44 น. ตามเวลาในประเทศไทย ยานโอไรออน (Orion) ในภารกิจ Artemis I ประสบความสำเร็จในการเดินเครื่องยนต์เป็นเวลา 2 นาที 30 วินาที เพื่อเร่งความเร็วไปถึงระดับ 5,023 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 8,083 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะยานอยู่เหนือพื้นผิวดวงจันทร์ 328 ไมล์ หรือประมาณ 527 กิโลเมตร และความเร็วระดับ 5,102 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 8,210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะยานอยู่เหนือพื้นผิวดวงจันทร์ 80 ไมล์ หรือประมาณ 130 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะห่างที่ยานโคจรเข้าใกล้ดวงจันทร์มากที่สุด


ในขณะที่ยานโอไรออน (Orion) โคจรผ่านด้านไกลของดวงจันทร์ ยานได้ขาดการติดต่อกับโลกประมาณ 34 นาที เนื่องจากดวงจันทร์บดบังการส่งสัญญาณกลับมายังโลกก่อนกลับมาติดต่อได้อีกครั้ง โดยหลังจากนี้ยานโอไรออน (Orion) จะเดินทางเข้าสู่วงโคจร Distrance Retrograde Orbit หรือ DRO และยานจะโคจรสอดคล้องไปกับดวงจันทร์ระยะห่างจากพื้นผิวดวงจันทร์โดยประมาณ 40,000 ไมล์ หรือประมาณ 64,000 กิโลเมตร


ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ยานโอไรออน (Orion) จะอยู่ห่างจากผิวดวงจันทร์มากที่สุด 57,250 ไมล์ หรือประมาณ 92,134 กิโลเมตร ก่อนที่ยานจะกลับเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์อีกครั้งในอีก 4 วันต่อมา และในวันที่ 28 พฤศจิกายน ยานโอไรออน (Orion) จะอยู่ห่างจากโลกมากที่สุด 268,500 ไมล์ หรือประมาณ 432,108 กิโลเมตร


สำหรับระบบการติดต่อสื่อสารกับยานโอไรออน (Orion) นาซาใช้ระบบ Deep Space Network ภายใต้การบริหารงานของห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (JPL) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับเครือข่ายอีก 2 แห่ง ในเมืองมาดริด ประเทศสเปน และกรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย เพื่อการติดต่อสื่อสารที่ต่อเนื่องในขณะที่โลกหมุนตลอดเวลา


ตามกำหนดการของนาซาในวันที่ 1 ธันวาคม ยานโอไรออน (Orion) จะทำการเดินเครื่องยนต์และใช้ประโยชน์จากแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ช่วยให้ยานเดินทางกลับถึงโลกในวันที่ 11 ธันวาคม เนื่องจากยานโอไรออน (Orion) ใช้รูปแบบวงโคจรแตกต่างจากยาน Apollo ในอดีตทำให้ใช้ระยะเวลาในการเดินทางที่นานกว่า โดยรวมระยะเวลาเดินทางตลอดภารกิจ 25 วัน 11 ชั่วโมง


ที่มาของข้อมูล nasa.gov

ที่มาของรูปภาพ blogs.nasa.gov 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง