รีเซต

นักวิจัยเซี่ยงไฮ้พัฒนา 'หุ่นยนต์เก็บตัวอย่างเลือด' ประสิทธิภาพเหนือมนุษย์

นักวิจัยเซี่ยงไฮ้พัฒนา 'หุ่นยนต์เก็บตัวอย่างเลือด' ประสิทธิภาพเหนือมนุษย์
Xinhua
2 กุมภาพันธ์ 2564 ( 20:12 )
93

เซี่ยงไฮ้, 2 ก.พ. (ซินหัว) -- คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยถงจี้ ในนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน ประกาศว่าได้พัฒนาเครื่องเก็บตัวอย่างเลือดอัตโนมัติ ที่มีประสิทธิภาพเท่ากับหรือเหนือกว่าบุคลากรทางแพทย์

 

เครื่องมือแบบตั้งโต๊ะตัวนี้ มีอุปกรณ์นำร่องและวางแผนด้วยภาพ (image-guided) ที่ใช้เทคโนโลยีคลื่นอินฟราเรดระยะสั้น (Near Infrared) และคลื่นอัลตร้าซาวด์ ซึ่งสามารถระบุตำแหน่งหลอดเลือดดำของผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ช่วยหลีกเลี่ยงการสอดเข็มซ้ำเพื่อเจาะเลือดผู้ป่วย

อนึ่ง การเจาะเลือด ซึ่งเป็นการสอดเข็มเข้าไปในเส้นเลือดดำเพื่อเก็บตัวอย่างเลือดหรือฉีดยาให้กับผู้ป่วย เป็นกระบวนการทางคลินิกที่มีอยู่ทั่วโลก แต่แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ก็อาจไม่สามารถเจาะเลือดสำเร็จได้ในครั้งเดียวหากมองเห็นเส้นเลือดดำไม่ชัดเจน

 

ความล้มเหลวจากการเจาะเลือดซ้ำๆ ในผู้ป่วยบางกลุ่ม อาทิ ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีอาการช็อกจากการตกเลือด มักก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด กินเวลานาน และอาจทำให้เส้นเลือดดำอักเสบและเกิดการติดเชื้อจากคนสู่คน

ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)  บุคลากรทางการแพทย์อาจหาเส้นเลือดดำของผู้ป่วยได้ยากลำบากเพราะต้องสวมใส่ชุดป้องกัน

 

"หุ่นยนต์ที่เราสร้างขึ้นนี้สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้" ฉีเผิง นักวิจัยหลักและอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศของมหาวิทยาลัยถงจี้ กล่าว

ฉีกล่าวว่า หุ่นยนต์นี้มีศักยภาพในการมองเห็น การจดจำ และการทำงานมากกว่าที่มนุษย์มี และช่วยให้เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมถึงป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไม่จำเป็นและการบาดเจ็บต่อทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่การแพทย์

 

นักวิจัยระบุว่า แม้เครื่องสแกนเส้นเลือดดำหลายประเภทที่มีวางจำหน่ายตามท้องตลาดในตอนนี้ จะสามารถช่วยระบุตำแหน่งและความลึกของเส้นเลือดดำได้ แต่เครื่องสแกนเหล่านี้ยังต้องใช้มนุษย์เก็บตัวอย่างเลือดและฉีดยาอยู่

โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวสามารถสอดเข็มเข้าสู่เส้นเลือดดำใต้ผิวหนังของผู้ป่วยได้อย่างอัตโนมัติ เนื่องจากคณะนักวิจัยได้พัฒนาอัลกอริทึมเพื่อกำหนดมุมและความลึกที่เหมาะสมในการเจาะเลือด

 

ก่อนที่จะวางจำหน่ายตามท้องตลาด หุ่นยนต์นี้เคยกวาดรางวัลมาแล้วหลายรายการ ในการแข่งขันทักษะความเป็นผู้ประกอบการระดับอุดมศึกษา ของทั้งมหาวิทยาลัยทั้งในจีนและต่างประเทศ รวมถึงเคยถูกจัดแสดงที่งานมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน (CIIE) ครั้งที่ 3 เมื่อปีที่แล้วด้วย

ฉีกล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้ หุ่นยนต์ตัวนี้จะถูกนำไปทดสอบใช้งานในโรงพยาบาลหลายแห่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง