"หมอยง" ตอบชัด วัคซีนต้านโควิด-19 เข็มกระตุ้น เข็มที่ 4 มีความจำหรือไม่?
วันนี้ (3 พ.ค.65) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Yong Poovorawan" ในหัวข้อ "โควิด 19 วัคซีน วัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 มีความจำเป็นไหม"
โดย ศ.นพ.ยง อธิบายว่า การได้รับวัคซีนครบ หมายถึงการได้รับวัคซีนเบื้องต้น 2 เข็ม และตามด้วยกระตุ้นเข็มที่ 3 จึงจะเรียกว่าการได้รับวัคซีนครบ จำเป็นต้องมีการให้เบื้องต้นและกระตุ้น
การกระตุ้นเพิ่มอีก 1 ครั้ง เป็นการกระตุ้นครั้งที่ 2 หรือที่เรียกว่าวัคซีนเข็มที่ 4 มีความจำเป็นในกลุ่มเสี่ยงสูง โดยเฉพาะบุคคลที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป และหรือมีโรคประจำตัว รวมทั้งที่เราเรียกว่า 608 นั่นเอง
ในกลุ่มที่มีโรคเรื้อรังเช่นโรคไต โรคมะเร็ง หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานที่ทำให้ฉีดวัคซีนแล้วการตอบสนองได้ไม่ดี กลุ่มนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้เข็ม 4
ฉะนั้น ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสผู้ป่วยสูงเช่นบุคลากรทางการแพทย์ ก็ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีน 4
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ยง ได้เปิดเผยว่า ผลงานการศึกษาของไทยได้ถูกตีพิมพ์ลงใน Journal of Infectious Disease (JID) ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำ เป็นการศึกษาภูมิต้านทาน ในเข็มกระตุ้น (เข็มสาม) ต่อเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.1 และ BA.2
ทำให้พบว่าการระบาดในประเทศไทยขณะนี้เป็นสายพันธุ์ BA.2 เกือบ 100% แต่เมื่อมาดูผลของภูมิต้านทานต่อสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 จะพบว่า ภูมิต้านทานต่อสายพันธุ์ BA.2 ที่ได้จากวัคซีนเข็มกระตุ้น จะลดลงต่ำกว่าสายพันธุ์ BA.1 ถึง 1.7 เท่า เมื่อมีการกลายพันธุ์ของไวรัสทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงอีกเล็กน้อย.
ข้อมูลจาก Yong Poovorawan
ภาพจาก แฟ้มภาพ TNN ONLINE