นักวิทย์จีนพัฒนา 'หน้ากาก' ตรวจจับไวรัสใน 10 นาที
ปักกิ่ง, 22 ก.ย. (ซินหัว) -- วารสารแมตเทอร์ (Matter) เผยแพร่ผลการศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยถงจี้ในจีน ซึ่งพัฒนาหน้ากากไบโออิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถตรวจจับการสัมผัสกับเชื้อไวรัสทางเดินหายใจทั่วไป รวมถึงเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
การศึกษาข้างต้นระบุว่าเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ แพร่กระจายผ่านฝอยละอองขนาดเล็กและละอองลอยที่ผู้ติดเชื้อปล่อยออกมาขณะพูด ไอ และจาม ซึ่งหน้ากากที่พัฒนาขึ้นมาใหม่สามารถตรวจจับเชื้อไวรัสเหล่านั้นและแจ้งเตือนผู้สวมหน้ากากผ่านอุปกรณ์พกพาภายในเวลา 10 นาทีหน้ากากความไวสูงนี้สามารถวัดตัวอย่างของเหลวปริมาณต่ำมากที่ระดับ 0.3 ไมโครลิตร และตัวอย่างก๊าซความเข้มข้นต่ำมากที่ระดับ 0.1 เฟมโตกรัมต่อมิลลิลิตร โดยฟางอิ๋น ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฯ ระบุว่าเกณฑ์ตรวจจับของเหลวที่มีโปรตีนของเชื้อไวรัสในห้องปิดน้อยกว่าปริมาณของเหลวจากการจามครั้งเดียวราว 70-560 เท่า และน้อยกว่าปริมาณของเหลวจากการไอหรือการพูดคณะนักวิจัยของฟางออกแบบเซนเซอร์ขนาดเล็กที่มีโมเลกุลสังเคราะห์ 3 ประเภท ซึ่งสามารถจดจำโปรตีนบนผิวด้านนอกของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์เอช5เอ็น1 (H5N1) และสายพันธุ์เอช1เอ็น1 (H1N1)เมื่อโมเลกุลเหล่านั้นยึดเกาะกับโปรตีนเป้าหมาย อุปกรณ์ทรานซิสเตอร์กระตุ้นด้วยไอออนที่ติดอยู่ในหน้ากากจะขยายสัญญาณและแจ้งเตือนผู้สวม โดยคณะนักวิจัยระบุว่าสามารถปรับปรุงหน้ากากนี้ให้ตรวจจับเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจชนิดใหม่ๆ ได้อย่างง่ายดาย