รีเซต

สดร. ไขข้อข้องใจ เหตุใด? ‘พระอาทิตย์’ ถึงมีสองดวง

สดร. ไขข้อข้องใจ เหตุใด? ‘พระอาทิตย์’ ถึงมีสองดวง
TNN ช่อง16
24 มกราคม 2567 ( 16:03 )
38
สดร. ไขข้อข้องใจ เหตุใด? ‘พระอาทิตย์’ ถึงมีสองดวง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  ได้โพสต์ความผ่านเพจระบุว่า ‘คลิปวิดีโอปรากฏดวงอาทิตย์ 2 ดวง อาจเป็นภาพสะท้อนจากกระจก’  ตามที่มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอลงในสื่อออนไลน์ Tiktok โพสต์โดยผู้ใช้งานชื่อ  อ ปรากฏภาพของดวงอาทิตย์สีแดงซ้อนกัน 2 ถึง 3 ดวง จนได้รับความสนใจและถูกแชร์ไปในวงกว้าง รวมถึงมีการแสดงความคิดเห็น ตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จากการหลักฐานที่มีเพียงวิเคราะห์คลิปวิดีโอดังกล่าว เบื้องต้น เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากภาพสะท้อนกระจก



ในเบื้องต้นนั้น ปรากฏการณ์ที่สามารถทำให้ดวงอาทิตย์ปรากฏได้หลายดวงนั้นมีหลายสาเหตุ ตั้งแต่การสะท้อนภายในเลนส์ของกล้องเอง (lens glare) การสะท้อนกับกระจกอาคาร ไปจนถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศ


ซึ่งหากเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการสะท้อนภายในกล้องนั้น จุดสังเกตคือตำแหน่งของแสงมักเปลี่ยนตามมุมของกล้องที่ส่ายไปมา (ซึ่งไม่ปรากฏในวีดีโอนี้) และปรากฏการณ์นี้จะไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า  


ส่วนปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศที่อาจสะท้อน และหักเหแสงจากดวงอาทิตย์ ทำให้สามารถสังเกตเห็นแสงจากดวงอาทิตย์ในมุมที่เปลี่ยนไปได้นั้นก็มีอยู่ด้วยกันอยู่หลายปรากฏการณ์ เช่น Sun Dog , Sun Pillar , Novaya Zemlya effect ฯลฯ


อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่สำคัญก็คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดจากชั้นบรรยากาศตามธรรมชาตินั้นมักจะมีสมมาตร ไม่ว่าจะเป็นแบบวงกลม (เช่น รุ้งกินน้ำ หรือดวงอาทิตย์ทรงกลด) ตามแนวนอน (เช่น Sun Pillar และ Novaya Zemlya) หรือตามแนวตั้ง (เช่น Sun Dog) สืบเนื่องมาจากรูปร่างทรงกลมของหยดน้ำ และการสะท้อนภายในผลึกน้ำแข็งในชั้นบรรยากาศที่กำลังตกลงตามแรงโน้มถ่วง ตามลำดับ


หากสังเกตจากวิดีโอ จะพบว่า “ปรากฏการณ์” ที่สังเกตเห็นได้นั้น มีภาพลวงของดวงอาทิตย์ปรากฏในแนวที่เฉียงออกไปในทิศทางเดียว ขัดแย้งกับสมมาตรที่สามารถพบได้ในชั้นบรรยากาศ เป็นการยากที่จะอธิบายว่าอนุภาคในอากาศจะต้องมีการเรียงตัวกันอย่างไร จึงจะสามารถสังเกตเห็นภาพลวงของดวงอาทิตย์ที่เฉียงไปทางบนขวาเพียงอย่างเดียวได้ ทั้งนี้ หากสังเกตจากภาพดวงอาทิตย์สองดวงที่มีการเผยแพร่ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากนิวซีแลนด์ [2] หรือจากจีน [3] ต่างก็พบว่ามีการเรียงตัวของดวงอาทิตย์ในแนวราบด้วยกันทั้งนั้น


นอกจากนี้ โดยทั่วไปแล้วพื้นผิวที่เกิดการสะท้อนหรือหักเหในชั้นบรรยากาศนั้นมักจะมีลักษณะที่เบลอไม่ได้เป็นขอบที่ชัดเจน สืบเนื่องมาจากระนาบการสะท้อนแสงที่ซ้อนกันหลายระนาบตลอดทั้งมวลอากาศ ในขณะที่ภาพดวงอาทิตย์ที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ดังกล่าวมีขอบชัดเจน จึงบ่งชี้ว่าเกิดจากการสะท้อนจากพื้นผิวแบนราบ ที่มีความหนาเพียงแผ่นบาง ๆ ในระนาบเดียว ซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับการสะท้อนจากชั้นบรรยากาศ


ยังมีปริศนาอีกว่า หากชั้นบรรยากาศสามารถเบี่ยงทิศทางแสงอาทิตย์ได้ แล้วเพราะเหตุใดสมมาตรวงกลมของดวงอาทิตย์ดวงเดิมจึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป (โดยเฉพาะเมื่อภาพลวงตาดังกล่าวซ้อนทับกับดวงอาทิตย์อยู่) ซึ่งหากสังเกตจากปรากฏการณ์ Novaya Zemlya ทั่ว ๆ ไปนั้น จะพบว่าดวงอาทิตย์เดิมนั้นไม่ได้ปรากฏเป็นวงกลมที่สมมาตรอีกต่อไป และแม้กระทั่งปรากฏการณ์ที่พบในนิวซีแลนด์ ( 2 ) หรือจีน ( 3)  ก็ล้วนแล้วแต่ไม่ได้ปรากฏดวงอาทิตย์ที่มีขอบเป็นวงกลมซ้อนกันด้วยกันทั้งนั้น


ด้วยเหตุที่ภาพที่ปรากฏนั้นเป็นดวงอาทิตย์ที่มีขอบคมซ้อนทับกันเป็นแนวเฉียงในทิศทางเดียว โดยไม่ได้ยืดออกแต่อย่างใด จึงสามารถสรุปได้ว่า วัตถุที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาพซ้อนกันนั้น ควรจะเป็นวัตถุที่มีการเรียงตัวเป็นระนาบแผ่นบางเพียงแผ่นเดียว ซึ่งวัตถุที่น่าจะเป็นมากที่สุดในกรณีนี้ ก็น่าจะเป็นกระจกของอาคารที่ถ่ายอยู่นั่นเอง





ข้อมูลจาก: @soladdawan61 / สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ภาพจาก@soladdawan61 / สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง