รีเซต

แผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดในสหรัฐฯ อาจเป็นอาฟเตอร์ช็อกจากแผ่นดินไหวที่เกิดเมื่อ 200 ปีก่อน

แผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดในสหรัฐฯ อาจเป็นอาฟเตอร์ช็อกจากแผ่นดินไหวที่เกิดเมื่อ 200 ปีก่อน
TNN ช่อง16
3 มกราคม 2567 ( 09:38 )
60
แผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดในสหรัฐฯ อาจเป็นอาฟเตอร์ช็อกจากแผ่นดินไหวที่เกิดเมื่อ 200 ปีก่อน

หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ มักจะมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดตามมาหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง หรืออาจเป็นวัน แต่งานวิจัยใหม่พบว่าอาฟเตอร์ช็อกจากแผ่นดินไหว อาจเกิดขึ้นได้หลังจากผ่านไปเกือบ 200 ปีเลยทีเดียว 


งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสารเกี่ยวกับธรณีฟิสิกส์ชื่อ โซลิดเอิร์ธ (Solid Earth) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2023 ซึ่งอธิบายว่าแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในอเมริกา 3 ครั้ง คือ แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นใกล้ชายแดนมิสซูรี - เคนตักกี้ปี 1811 และ 1812 (ขนาดความรุนแรง 7.3 และ 7.5) และแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 7.0 ที่เกิดในเมืองชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา ในปี 1886 ยังมีการเกิดอาฟเตอร์ช็อกเรื่อย ๆ จนถึงกระทั่งปัจจุบัน


หยูซวน เฉิน ผู้นำการวิจัย นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ประเทศจีน กล่าวว่า ในการพิจารณาอาฟเตอร์ช็อกจะต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่ย เวลา ระยะทาง ขนาดของคู่เหตุการณ์ และพยายามค้นหาความเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ทั้งสอง หากระยะห่างระหว่างแผ่นดินไหว 2 เหตุการณ์ ใกล้กว่าที่คาดไว้ ดังนั้นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทีหลังนี้ ก็น่าจะเป็นอาฟเตอร์ช็อก ด้วยแนวคิดและวิธีการศึกษาหลายปัจจัยเหล่านี้ คือ การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ (ตรวจสอบการกระจายตัวของแผ่นดินไหวในภูมิภาค หากแผ่นดินไหวสองครั้งอยู่ใกล้กันมากกว่าที่คาดการณ์โดยอิงจากข้อมูลแผ่นดินไหวในพื้นที่ แสดงว่าแผ่นดินไหวครั้งหลังน่าจะเป็นอาฟเตอร์ช็อกของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นก่อน), การเปรียบเทียบขนาดความรุนแรงของแผ่นดินไหว (โดยทั่วไปแล้วอาฟเตอร์ช็อกจะมีขนาดความรุนแรงน้อยกว่าแผ่นดินไหวหลัก) 


รวมไปถึงการเปรียบเทียบวิธีการทางสถิติ (ใช้วิธีการทางสถิติ เปรียบเทียบกับลักษณะทางกายภาพของโลก และการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ที่แผ่นดินไหวจะเกิดอาฟเตอร์ช็อก) ฯลฯ ทำให้คาดการณ์ว่าแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 2.5 ขึ้นไป ที่เกิดบริเวณชายแดนมิสซูรี - เคนตักกี ระหว่างปี 1980 - 2016 ประมาณ 30% น่าจะเป็นอาฟเตอร์ช็อกจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ 3 ครั้งในปี 1811 ปี 1812 และปี 1886 ที่กล่าวถึงไปแล้ว


ซึ่งการศึกษานี้ ถือว่ามีความสำคัญเพราะจะสามารถทำให้เราเข้าใจความเสี่ยงจากภัยพิบัติในอนาคตของบริเวณนี้ แม้ในตอนนี้ แผ่นดินไหวที่คาดว่าเป็นอาฟเตอร์ช็อกเหล่านี้ จะไม่สร้างความเสียหายหรือเสียหายเพียงเล็กน้อยก็ตาม


แต่ทั้งนี้ มีงานวิจัยอื่นที่ผลลัพธ์แตกต่างจากงานวิจัยนี้ คือ งานวิจัยเมื่อปี 2014 ของ ซูซาน ฮัฟ (Susan Hough) นักธรณีฟิสิกส์จากสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา ที่ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อทำความเข้าใจแผ่นดินไหวในโซนแผ่นดินไหวนิวมาดริด และผลลัพธ์สรุปว่า แผ่นดินไหวที่เกิดในปัจจุบัน ถือเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นใหม่ และไม่มีความเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 เลย เพราะหากมันยังมีความเครียดสะสมอยู่ ก็น่าจะเกิดแผ่นดินไหวบ้างในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 แต่มันไม่เกิดขึ้นเลย 


ทั้งนี้ จอห์น เอเบล (John Ebel) ศาสตราจารย์ด้านธรณีฟิสิกส์ที่ วิทยาลัยบอสตัน บอกว่าปัญหาใหญ่ในการยืนยันหรือปฏิเสธว่าแผ่นดินไหวแต่ละครั้ง ถือเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นใหม่หรือเป็นอาฟเตอร์ช็อกนั้น คือนักแผ่นดินไหววิทยายังไม่มีคำจำกัดความที่ตกลงกันในระดับสากลว่า “อาฟเตอร์ช็อกของแผ่นดินไหวคืออะไร ?” 


แต่อย่างไรก็ตาม แม้งานวิจัยเหล่านี้ยังไม่ได้รับข้อสรุปและการยอมรับในวงกว้าง แต่ก็ถือว่าเป็นอีกก้าวของแวดวงแผ่นดินไหวโลก ที่จะทำให้เราเข้าใจภัยพิบัติต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อที่ในอนาคตเราจะได้มีวิธีรับมือต่อภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง


ที่มาข้อมูล CNN, Agupubs.onlinelibrary

ที่มารูปภาพ USGS

ข่าวที่เกี่ยวข้อง