ข่าวดี ! พบเพนกวินจักรพรรดิฝูงใหม่ด้วยการตามรอยอุจจาระจากอวกาศ
เนื่องในวันเพนกวิน (Penguin Awareness Day) เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2023 ที่ผ่านมา บริติชแอนตาร์กติกเซอร์เวย์ (British Antarctic Survey) ได้ประกาศค้นพบเพนกวินจักรพรรดิฝูงใหม่ที่ไม่เคยถูกค้นพบมาก่อนในทวีปแอนตาร์กติกา ด้วยภาพถ่ายดาวเทียมจากดาวเทียมโคเปอร์นิคัส เซนทิเนล-2 (Copernicus Sentinel-2) ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) และดาวเทียมเวิล์ดวิว-3 (WorldView-3) ของบริษัท แม็กซาร์ เทคโนโลยี (Maxar Technology)
การติดตามตลอดระยะเวลา 15 ปี
โดยตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์สังเกตรอยอุจจาระจากภาพถ่ายของดาวเทียมทั้ง 2 ดวง แล้วทำการเปรียบเทียบกับเพนกวิน 66 สายพันธุ์ ในทวีปแอนตาร์กติกาที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว
แม้จะเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นแต่ก็น่าเป็นห่วงเพราะเพนกวินกลุ่มนี้เป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น และพวกมันยังอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการละลายของน้ำแข็งในทะเล
ลูกเพนกวินอาจตายจากเหตุการณ์แผ่นน้ำแข็งละลาย
โดยเพนกวินจักรพรรดิเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่ผสมพันธุ์บนแผ่นน้ำแข็ง และตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่บนแผ่นน้ำแข็งด้วยเช่นกัน ซึ่งลูกเพนกวินจะต้องใช้เวลาอยู่บนแผ่นน้ำแข็งอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อเติบโตให้เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาภาวะโลกร้อนกำลังทำให้อุณหภูมิในทวีปแอนตาร์กติกาสูงขึ้น ส่งผลให้แผ่นน้ำแข็งในทวีปละลายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากแผ่นน้ำแข็งที่เพนกวินใช้วางไข่และฟักออกจากไข่แตกและละลายออกก่อนช่วง 6 เดือน ที่ลูกเพนกวินจะต้องใช้ในการเติบโต ลูกเพนกวินจะตกลงไปในน้ำและจมหรือกลายเป็นน้ำแข็ง ซึ่งส่งผลต่ออัตราการเกิดใหม่ของเพนกวิน ดังนั้นมันจึงเป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีความเสี่ยงจะสูญพันธุ์จากผลกระทบของภาวะโลกร้อน
โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าเพนกวินจักรพรรดิส่วนใหญ่จะสูญพันธุ์ภายในช่วงสิ้นศตวรรษนี้ หากมนุษยชาติไม่สามารถหาทางลดอุณหภูมิโลกได้อย่างน้อย 1.5 องศาเซลเซียส
ข้อมูลจาก endgadget
ภาพจาก Pixabay