รีเซต

'เอ็กซิม แบงก์' เตือนธุรกิจ 4 อานิสงส์ ส่งออกหมดแค่สิ้นปี ปี65 ท้าทายต้องปรับตัว

'เอ็กซิม แบงก์' เตือนธุรกิจ 4 อานิสงส์ ส่งออกหมดแค่สิ้นปี ปี65 ท้าทายต้องปรับตัว
มติชน
22 กันยายน 2564 ( 13:08 )
53
'เอ็กซิม แบงก์' เตือนธุรกิจ 4 อานิสงส์ ส่งออกหมดแค่สิ้นปี ปี65 ท้าทายต้องปรับตัว

 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 กันยายน นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) กล่าวในงานสัมมนา “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” รูปแบบไลฟ์สตรีมมิงผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ “2021 สู่ 2022 ทิศทางส่งออกไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ว่า ขณะนี้ธุรกิจกำลังไปสู่โลกที่ต่างจากเดิม เรียกว่า เน็กซ์ นอลนอล (next normal) ซึ่งไม่ใช่นิว นิวนอลแล้ว โดยประเทศไทยโชคดี เปรียบเหมือนมีแม่น้ำสี่สายมาบรรจบกัน คือ 1.ค่าเงินบาทดี 2.เศรษฐกิจโลกฟื้น 3.สินค้าไทยเป็นที่ต้องการ และ 4.ความอัดอั้นที่ต้องการสินค้าจำนวนมาก แต่ในส่วนนี้มีวันหมดอายุภายในสิ้นปีนี้ ดังนั้น ในปี 2565 จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง สิ่งสำคัญคือ การปรับตัว ค่าระวางเรือ อัตราการเพิ่มขึ้นไม่ใช่แค่ 2 เท่า แต่ในบางสาย เพิ่มเป็น 6  เท่า

 

“ธุรกิจที่มีโครงสร้างต้นทุนแบบเดิมจึงไม่สามารถอยู่ได้ อย่างสถานการณ์ตู้คอนเทนเนอร์ขาด อารมณ์คือ เรียกรถแท็กซี่ ไปถนนสีลม ตอน 6 เย็น ที่ฝนตกหนัก ไม่มีใครอยากไป ถ้าไปก็ต้องจ่ายค่ารถเพิ่ม และรถก็ไปติดอยู่ที่สีลม” นายรักษ์ กล่าว

 

ปัจจุบัน จำนวนตู้คอนเทนเนอร์ไม่ได้ขาด ยังมีเหลืออยู่จำนวนมาก เพราะไปกองอยู่ที่ปลายทาง ไม่มีการส่งตู้เปล่ากลับมา ซึ่งประเทศปลายทางอย่าง สหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ไม่ใช่ประเทศที่มีการผลิตเพื่อการส่งออกแล้ว จึงไม่มีสินค้ากลับมา เป็นที่มาว่าทำไม ภาคเอกชนจึงขอให้ภาครัฐช่วย ฉะนั้น จำนวนตู้ไม่ได้ขาด ไม่ได้สร้างตู้ใหม่ ทางแก้ไข คือการกระจายความเสี่ยง ส่งออกไปยังทวีปอื่นที่กำลังเติบโต เช่น แอฟริกาใต้ อเมริกาใต้ เป็นต้น ทำไมจึงต้องค้าขายอยู่กับแค่คู้ค่าเดิมๆ ด้วย ผู้ประกอบธุรกิจควรต้องปรับตัวเพื่อบริหารความเสี่ยงแล้ว

 

สำหรับการปรับตัวในปี 2565 คือ ภาครัฐและภาคเอกชนต้องเตรียมตัว อย่างผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่จดทะเบียนประมาณ 3 ล้านราน นอกสำมะโน อีก 2.7 ล้านราย รวมเกือบ 6 ล้านราย แต่สามารถผันตัวเองไปเป็นผู้ส่งออกเพียง 1% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มที่จดทะเบียน จึงคิดว่าอาจจะมีอะไรผิดพลาดไป รูปแบบธุรกิจของไทยผิด ไม่สามารถทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาไปสู่เวทีโลกได้ ผู้ประกอบการไทยต้องแย่งลูกค้ากันภายในประเทศ

 

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยควรต้องสร้างแพลตฟอร์มใหม่ ช่วยผลัดกดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ได้มีช่องทางส่งออกสินค้าได้ โดยปลายปีนี้ทางเอ็กซิมแบงก์ จะเช่าแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ขนาดใหญ่ให้ผู้ประกอบการไทย โดยไม่ต้องรับภาระค่าแรกเข้าที่สูงเอง สิ่งสำคัญเรื่องของข้อมูลเราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้สั่งซื้อเป็นตัวจริง ทำให้การส่งออกมีปัญหาน้อยที่สุด ดังนั้นต้องเปลี่ยนการให้บริการ ถ้าหากผู้ประกอบการเดินมาที่ เอ็กซ์ซิม แบงก์ สิ่งแรกที่เติมความรู้ให้ คือ ผู้ประกอบการไทยต้องรู้จักบริหารความเสี่ยง หากสามารถรู้จักป้องกันความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินได้ ก็ไม่จำเป็นต้องสนใจเรื่องการขึ้นลงของค่าเงิน เพราะมีการจัดการความเสี่ยง

 

“นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในโลกอนาคต รักง่าย หน่ายเร็ว  รัก คือ ที่ผู้คนสนใจที่ดูแลตนเอง สนใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น รักตัวเอง ง่าย คือ เมื่อเห็นคนอื่นมี ก็ต้องการที่จะมีบ้าง ซื้อง่ายขึ้น หน่าย คือ พอหมดกระแส จะเห็นว่าบางสินค้าจะไม่มีคนไปต่อแถวซื้อแล้ว สุดท้ายคือ เร็ว เช่น สั่งของ 10 โมงก็ต้องได้ของก่อนเที่ยง นั้นคือโลกยุคใหม่ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ตรงจุดกับอนาคตได้หรือไม่ ถ้ายังคงรูปแบบทำแบบเดิมๆ ก็อาจจะตายได้ ภาครัฐจึงจะทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนช่วยให้เห็นถึงจุดที่ต้องแก้ไจข และเป็นมือที่คอยประคอง ให้ผู้ประกอบการผ่านวิกฤตไปได้  จึงเป็นเรื่องที่ดี ที่ภาครัฐสนใจภาคเอกชนมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชน หลังจากที่ภาครัฐช่วยฟื้นฟูนั้น ก็อย่าให้ทุกอย่างผ่านไปเฉยๆ แต่ต้องมีการเรียนรู้และยืนได้ด้วยตนเองให้ได้” นายรักษ์ กล่าว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง