'เอ็กซิม แบงก์' ฝาก 4 คาถาเอสเอ็มอีเช็กตัวเองตายหรือยัง ต้องปรับตัว งัดมาตรการช่วย!!
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 กันยายน นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) กล่าวในงานสัมมนา “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” รูปแบบไลฟ์สตรีมมิงผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ “2021 สู่ 2022 ทิศทางส่งออกไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่จดทะเบียนประมาณ 3 ล้านราน นอกสำมะโน อีก 2.7 ล้านราย รวมเกือบ 6 ล้านราย แต่สามารถผันตัวเองไปเป็นผู้ส่งออกเพียง 1% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มที่จดทะเบียน จึงคิดว่าอาจจะมีอะไรผิดพลาดไป รูปแบบธุรกิจของไทยผิด ไม่สามารถทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาไปสู่เวทีโลกได้ ผู้ประกอบการไทยต้องแย่งลูกค้ากันภายในประเทศ
ทั้งนี้ อยากฝากคาถา คือ ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสำรวจตนเองว่า ธุรกิจเราได้ตายไปหรือยัง ข้อแรกคือ เช็คหัวใจ โควิดเป็นนาฬิกาปลุก ให้เห็นว่าธุรกิจใดที่อยู่ได้ในช่วง 18 เดือนโดยที่ไม่ล้มไปก่อน ทำให้เห็นว่าอะไรคือรายได้ อะไรคือหนี้ ผู้ประกอบการต้องฝึกฝน ที่จะอยู่ได้ 6 เดือนโดยที่ไม่มีลูกค้า ซึ่งเป็นเคล็ดลับ สำหรับการเผชิญกับโลกอนาคต ที่ไม่แน่นนอนว่าจะความเสี่ยงอะไรใหม่หรือเปล่า
ข้องที่สองคือ เช็กออกซิเจน หมายถึง แม้ว่าธุรกิจยังแข็งแรง สามารถสต็อกสินค้าได้ แต่ถ้าคู่ค้า ซับพลายเชน ได้ตายไปแล้ว ของที่มีก็จะขายไม่ได้ ประกอบการก็ต้องอาจแย่ได้เหมือนกัน ข้อสามคือ กระดูกสันหลัง หมายถึง ตอนนี้มีเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตหรือให้บริการดีเพียงพอแล้วหรือยัง โดยตอนนี้ ภาครัฐ โดย เอ็กซิม แบงก์ มีสินเชื่อ ดอกเบี้ยต่ำเพียง 2% ต่อปี ที่ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้นำไปลงทุนเทคโนโลยี และข้อสุดท้าย คือ เช็คสมอง ว่า ธุรกิจที่ทำอยู่เชื่อมโยงกับโลกอนาคตได้หรือเปล่า เรียนรู้และรู้ให้รอบด้าน ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
“โควิด ไม่ใช่ความเสี่ยง แต่ความเสี่ยงคือ ความไม่รู้ และความกลัว ซึ่งเมื่อรวม ความไม่รู้กับความกลัว ทุกอย่างก็จะเสี่ยงไปหมด” นายรักษ์ กล่าว