รีเซต

ส.เครื่องนุ่งห่มไทย ย้ำธุรกิจแข่งรุนแรง ต้อง 'ถูก เร็ว คุณภาพดี เซอร์วิสดี'

ส.เครื่องนุ่งห่มไทย ย้ำธุรกิจแข่งรุนแรง ต้อง 'ถูก เร็ว คุณภาพดี เซอร์วิสดี'
มติชน
22 กันยายน 2564 ( 14:33 )
38
ส.เครื่องนุ่งห่มไทย ย้ำธุรกิจแข่งรุนแรง ต้อง 'ถูก เร็ว คุณภาพดี เซอร์วิสดี'

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 22 กันยายน นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ร่วมเสวนาหัวข้อ “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน รูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่ง โดยกล่าวในหัวข้อ “มุมมองผู้ส่งออก ความหวังเศรษฐกิจไทย” ว่า การปรับตัวของภาคธุรกิจโดยธรรมชาติ อย่างแรกคือปรับตัวเพราะเดือดร้อน โดนบีบรัดไม่มีออเดอร์ มีแต่รายจ่าย อย่างที่สองปรับตัวเพราะเห็นโอกาส สามารถเข้าถึงข้อมูล คิดพิจารณาว่าที่ต้องปรับตัวต้องแปลงมาเป็นแผน และทำได้จริง ในแง่ของการปรับตัวคนที่เดือดร้อนที่สุด มองเห็นโอกาสด้วยสามารถที่จะปรับได้เร็ว ไม่ใช่แค่อยู่ได้ เขาจะเจริญเติบโต ความสามารถการแข่งขันจะสูงมาก

 

 

 

ตัวอย่างอย่างปีที่แล้วขายเสื้อผ้าไม่ได้ เพราะคนไม่ใส่เสื้อผ้า เพิ่งจะรู้ว่าไทยเราไม่มีความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขอย่างแรง ไม่มีวัคซีน ไม่มีแม้แต่หน้ากาก คนแย่งกันซื้อในช่วงหนึ่ง ไม่มีโรงงานที่ผลิตPPE ต้องนำเข้า 100% ในช่วงที่เราวิกฤตเขาก็ไม่ส่งออกมา ต้องแย่งกัน นั่นคือความไม่มั่นคง คนที่เห็นโอกาสเขาเปลี่ยนไลน์การผลิตเสื้อที่ผลิตไม่ได้ มาผลิตชุด PPE ขึ้นทะเบียน ใช้เงินไปหลายแสน ส่งเทสต์จนผ่าน ตอนนี้ส่งออกยุโรป ตั้งไลน์ผลิตเป็นแพลนใหม่ สามารถส่งออกได้เดือนละเกือบ 1 ล้านตัว กลายเป็นธุรกิจใหม่โดยอัตโนมัติใน 6 เดือน

 

 

“ยังมีโอกาสในวิกฤตอีกมาก อยู่ที่ว่าเรามองเห็นโอกาสในภาพรวมอย่างไร ต้องจับจ้องอยู่กับมูฟเมนต์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ในภาพของธุรกิจต้องฝังแนวความคิด เรื่องของการปรับตัวตลอดเวลา จริงๆ ไม่ใช่แค่ในฝ่ายผลิต ตัวลีดเดอร์จะสำคัญมากในสภาวะการณ์แบบนี้” นายยุทธนากล่าว

 

 

 

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปัจจุบันอยู่ในสภาวะการแข่งขันที่ไม่เหมือนเดิม บางทีชนะด้วยราคาถูก ความเร็ว ซัพพลายเออร์ที่แข็งแรง แข็งแกร่ง หรือฟังก์ชันหรือแวลูของสินค้า ยุคถัดจากนี้ไป ต้องชนะทุกตัวพร้อมกันหมด คุณถูก ไม่เร็ว ลูกค้าก็ไม่ซื้อ ต้องถูก ต้องเร็ว คุณภาพดี เซอร์วิสดีด้วย จะกลายเป็นสภาวะที่ต้องไปพร้อมๆ กัน ทุกๆ เรื่อง ต้องมองเป็นโอกาส

 

 

ดังนั้นภาพที่อยากจะเห็นรัฐและเอกชนหารือร่วมกันเรื่องอาร์แอนด์ดี สร้างแวลูของสินค้า อะไรที่เป็นอุปสรรคเอาออกไปได้หรือไม่ อนาคตต้องคุยวางแผนกันเป็นระยะยาว เราขาดแค่ว่าไม่มีแลปอาร์แอนด์ดีในอุตสาหกรรม ซึ่งใช้เงินเป็นหลักร้อยล้าน แต่เพิ่มมูลค่าเป็นแสนล้าน

 

 

หากจะดันให้การส่งออกสูงขึ้น ต้องเป็นเรื่องฟังก์ชั่น ฟิวเจอร์ของสินค้า เรื่องแนวความคิดของคน วิธีคิดต่างๆและไปบวกกับการตลาด แบบนี้พอตั้งธงเป็นเชิงกลยุทธ์ได้ระหว่างรัฐและเอกชน มันต้องผลักไปด้วยกันพร้อมกัน งบประมาณที่รัฐชูเอกชนจะเป็นระยะกลางและระยะยาวมากขึ้น มากกว่างบระยะสั้น เน้นไปจุดย่อยมากเกินไป ทำให้ไม่มีพลัง ไปสู่กลยุทธ์ได้ยาก

 

 

“อนาคตต้องร่วมกันทำ เอกชนปรับตัว ทำได้เร็วอยู่แล้ว รัฐก็ลงมาช่วย เช่น ภาพของการพัฒนาที่ไปได้เร็วคือการนำแพลตฟอร์ม ซอฟแวร์ต่างๆมาช่วยเอสเอ็มอี เราอยากจะเห็น ไม่ใช่แค่ช่วยลดค่าไฟ ประกันสังคม ถ้าเรามีอีอาร์พีในราคาที่ถูกเลยหรือฟรีส่งไปให้เอสเอ็มอีใช้เป็นมาตรฐาน จะยกระดับได้เลยในเวลาแค่ข้ามปี ปัจจุบันไปไม่ถึงคนที่ใช้งานจริง และต้นทุนสูง เราต้องยกระดับคุณภาพผู้ประกอบการผ่านทางเทคโนโลยี และเทรนด์ต้องไปพร้อมๆกัน” นายยุทธนากล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง