รีเซต

คต. ชู “3 พ 1 ป” ดันการค้าไทย ปี65 วัคซีนตัวแปรหลักศก.

คต. ชู “3 พ 1 ป” ดันการค้าไทย ปี65 วัคซีนตัวแปรหลักศก.
มติชน
22 กันยายน 2564 ( 13:09 )
36
คต. ชู “3 พ 1 ป” ดันการค้าไทย ปี65 วัคซีนตัวแปรหลักศก.

 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 กันยายน นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (คต.) หรือ DITP ร่วมสัมมนา “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” รูปแบบไลฟ์สตรีมมิงผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ “2021 สู่ 2022 ทิศทางส่งออกไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ว่า ยุทธศาสตร์ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายไว้ให้คือ “ตลาดนำการผลิตเพื่อพลิกวิกฤตโควิด-19” ทางกรมฯได้นำมาปรับเป็น “3 พ 1 ป” ซึ่ง 3 พ คือการพัฒนา 3 ด้าน ประกอบไปด้วย

 

1.พัฒนาช่องทางการตลาดในยุคดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น

  • ปรับรูปแบบเจรจาการค้าจากออฟไลน์เป็นออนไลน์ หรือ Online Business Matching (OBM) ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในส่วนกลางคือการใช้ทูตพาณิชย์ทั่วโลก ติดต่อผู้นำเข้าให้มาเจรจาการค้าบนออนไลน์ ในส่วนภูมิภาคคือการใช้พาณิชย์จังหวัดเป็นเซลล์แมนจังหวัด ทั้งหอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด มาทำ OBM ให้เกิดมูลค่าการค้า
  • เปลี่ยนรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้าเป็นรูปแบบออนไลน์ หรือ Virtual trade fair มีสินค้าให้เลือกมากมาย มีรายชื่อผู้ประกอบการเพื่อให้เจรจาการซื้อขายต่อไปได้
  • Mirror – Mirror Project คือการปรับรูปแบบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในต่างประเทศ  ผู้ประกอบการส่งสินค้าไป แต่ตัวอยู่ในประเทศ มีบูธที่ตั้งในพื้นที่ Live โดยตัวแทนการค้า ติดต่อผู้ซื้อ ผู้ประกอบการสามารถมานั่งได้ที่กรม และมีการเจรจาการค้าผ่านออนไลน์ได้เลย อีกทั้งมีการใช้อินฟลูเอนเซอร์มาช่วยรีวิวสินค้า เชิญชวนให้มาซื้อสินค้า

 

2.พัฒนาเพิ่มมูลค่า เพิ่มสินค้าด้วยนวัตกรรม ให้อยู่ในรูปแบบ New Normal หรือ Next Normal ของใช้มีการเปลี่ยนไป เน้นการเวิร์คฟรอมโฮม หรือสินค้าไลฟ์สไตล์ ที่จะมีการเติบโตอย่างมาก มีโปรแกรมการพัฒนาการสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น เฟอเนิเจอร์ เป็นต้น

 

3.พัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ให้ผู้ประกอบการค้าขายออนไลน์ โดยสถาบันผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ (NEA) มีหลายหลักสูตร มีการสอนใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ มีการทำสื่อประชาสัมพันธ์ ใช้ให้เป็นและให้เกิดประโยชน์

 

ส่วน 1 ป คือการประชาสัมพันธ์สินค้า ที่มีความปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 มุ่งเน้นความปลอดภัยมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคชาวต่างชาติมีความมั่นใจ

 

นายเอกฉัตร กล่าวต่อว่า ในปี 2565 วัคซีนเป็นตัวสำคัญในการผลิตและการตลาด ต้องปลอดเชื้อทั้งในโรงงานและภาคการขนส่ง ถ้าได้มีการวัคซีนจำนวนมาก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลับมา และมีอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งอาหาร โรงแรม ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ อีกทั้งต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้ Facilitate ของภาครัฐ ในปี 2565 Mega Trend มีการเปลี่ยน การทำสินค้าที่ไม่สร้างมลภาวะแก่โลก (BCG) นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนกฎระเบียบ FTA สินค้าสุขภาพจะมา

 

ในแง่ของผู้ประกอบการต้องมีการอัพสกิลรีสกิล ให้เกิดนิวสกิล เพราะเทคโนโลยีไปเร็วมาก สถาบัน NEA มีการปรับหลักสูตรทุกปี ผู้ประกอบการจะต้องรู้ว่าเทคโนโลยีในอนาคตช่วยอะไรได้บ้าง ใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงภาคการค้าต้องใช้ประโยชน์จาก FTA ภาคเอกชนอาจจะต้องเสนอการทำ mini FTA กับเมืองรอง เช่น เมืองคยองกี ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นเมืองดิจิทัล เมืองกานซู่ ประเทศจีน เป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าฮาลาล ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากันอยู่ ผู้ประกอบการจะต้องปรับสินค้าให้เข้ากับตลาด นอกจากนี้กรมก็จะช่วยประชาสัมพันธ์สินค้า Next Normal อีกด้วย

 

“อย่างที่รองนายกรัฐมนตรีพูดมา ผู้ประกอบการไทยจะต้องรับมือรับรู้การค้าของโลก การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การค้าโลก แต่ในส่วนของภาครัฐ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะเป็น Facilitator ช่วยอำนวยความสะดวกให้การส่งออกก้าวต่อไป อย่างไรก็ตามปัญหามีอยู่ทุกที่ ทำอะไรไปก็มีคู่แข่งอยู่ตลอดเวลา เมื่อสถานการณ์โลกดีขึ้น ก็มีคนขายสินค้าเหมือนกับเรา แต่ปัญหาที่เกิด คือ ปัญหาเรื่องค่าระวางเรือ มีการแย่งตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมี กรอ.พาณิชย์ ช่วยแก้ปัญหาด้วยความรวดเร็ว นอกจากนั้นยังมีปัญหาการส่งผลไม้ข้ามชายแดน ที่ด่านหยวนอี้กวน ด่านตงซิง ก็มีการใช้ทูตพาณิชย์ไปเจรจาอำนวยความสะดวกให้” นายเอกฉัตร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง