รักษ์ วรกิจโภคาทร ปลุกส่งออกไทยผ่าน5มิติ
หมายเหตุ – หนังสือพิมพ์มติชนเตรียมจัดงานสัมมนา “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” วันที่ 22 กันยายน 2564 รูปแบบ Live Streaming โดยนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) หรือเอ็กซิมแบงก์ ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางการส่งออก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงเสวนา “2021 สู่ 2022 ทิศทางส่งออกไทย” ที่เปิดมุมมอง บอกเล่าทิศทางการทำงานภาครัฐ
ภาคการส่งออกของไทยในปี 2564 ถือเป็นปีที่ “ดีต่อใจ” เนื่องจากบริบทในเชิงบวกวิ่งเข้ามาเจอกัน เป็นเหมือนภาพแม่น้ำ 3-4 สายไหลมารวมกันหรือปัจจัยบวกในภาคการส่งออกที่มีร่วมกัน โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ประมาณ 8% เทียบจากช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา เนื่องจากหลายๆ ปีก่อนหน้า ค่าเงินบาทแข็งค่ามาตลอดแม้เศรษฐกิจจะไม่ดีมากนักก็ตาม ซึ่งการที่เงินบาทอ่อนค่าลงถือเป็นข้อดี เพราะช่วยให้ผู้ส่งออกได้เปรียบคู่แข่ง เนื่องจากลูกค้าที่ซื้อสินค้าจากประเทศไทย สามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกมากกว่าเดิม และทำให้รายรับเมื่อแลกกลับมาในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นด้วย
บวกกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวกลับมาเติบโตที่ประมาณ 4-5% ซึ่งถือเป็นภาพที่ดี เพราะมีการช่วยเหลือจากเม็ดเงินที่ปั๊มออกมาช่วยเหลือเยียวยาเศรษฐกิจโลกต่อสหรัฐ คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศไทยจึงได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกระจายวัคซีนที่เร็วของตลาดส่งออกสำคัญของไทย อาทิ สหรัฐ ยุโรป และจีน ทำให้เกิดความต้องการสินค้าที่อั้นจากในช่วงก่อนหน้า(Pent-up Demand) หลังมีการเปิดเมือง แม้ปัจจุบันหลายประเทศต้องเผชิญกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า แต่ส่วนใหญ่ก็ได้มีการปรับแนวคิดที่จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ ผ่านการคิดว่าติดได้แต่ไม่ตาย โดยเฉพาะประเทศที่ฉีดวัคซีนได้ไว
ปัจจัยดังกล่าวทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังเดินต่อไปได้ ทำให้เม็ดเงินจากการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนนี้ในหลายๆ จำนวนได้แปลงไปเป็นการซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค ผ่านสินค้าประเภทต่างๆ ทำให้คนซื้อมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ส่งผลโดยตรงให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ทุกอย่างจึงเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง จากความต้องการ (ดีมานด์) ที่สะสมไว้แล้วไหลร่วงลงมารวมกัน ทำให้คนอยากสินค้าไทยมากขึ้น บวกกับสินค้าไทยเอง ถือว่ามีความต้องการในตลาดด้วย เนื่องจากสินค้าไทยเป็นสินค้าสำหรับกลุ่มคนที่ต้องทำงานที่บ้าน หรือการเวิร์กฟรอมโฮม ทั้งเฟอร์นิเจอร์ สินค้าโอท็อป เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร เครื่องปรุงรสเวชภัณฑ์ และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งสินค้าในกลุ่มเหล่านี้จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของดีมานด์ในโลก
ภาพทิศทางและแนวโน้มการส่งออกของไทยปี 2565 อาจต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564 เนื่องจากปี 2564 ได้แต้มต่อจากฐานที่ต่ำในปี 2563 รวมถึงความต้องการสินค้าที่อั้น (Pent-up Demand) จากในช่วงก่อนหน้านี้ ที่หลายประเทศเริ่มเปิดเมือง และเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ปี 2565 ถือเป็นบททดสอบสำคัญที่จะแสดงถึงศักยภาพที่แท้จริงของผู้ส่งออกไทย โดยอยากชวนมองโอกาสและความท้าทายที่ผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญในปี 2565 ผ่าน 5 มิติ
ได้แก่ 1.มิติด้านเศรษฐกิจ ที่มองว่าเศรษฐกิจโลกอาจไม่ได้ฟื้นตัวกลับมาแบบเปรี้ยงปร้างเหมือนปี 2564 เพราะหลายประเทศมหาอำนาจเริ่มถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันเงินบาทอาจผันผวนมากขึ้นจากนโยบายการเงินที่สวนทางกันระหว่างประเทศตลาดหลักและตลาดใหม่ โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะถอนมาตรการเชิงผ่อนคลายทางปริมาณ (คิวอี) และอาจเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ประเทศตลาดใหม่หลายแห่งยังจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปเช่นเดียวกับประเทศไทย 2.มิติด้านการผลิต ที่มองว่าซัพพลายเชนของโลกอาจสั้นลง เพราะผู้ผลิตได้บทเรียนจากการระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อาจหันมาใช้ตัวแทนจำหน่ายสินค้าและบริการ (ซัพพลายเออร์) ในประเทศ และภายในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่พึ่งพาซัพพลายเออร์รายเดียวอีกต่อไป เพื่อป้องกันการผลิตที่อาจหยุดชะงักได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือเป็นโอกาสในการแทรกตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศ ให้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในซัพพลายเชนของผู้ส่งออกมากขึ้น
3.มิติด้านพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งคาดว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้วงจรชีวิตของสินค้าสั้นลง และเทคโนโลยีดิจิทัล จะเข้ามามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งผู้ผลิตต้องปรับตัวและปรับสินค้าให้ไวตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป 4.มิติของคู่ค้า ที่อาจต้องมีการตรวจสุขภาพของคู่ค้าในต่างประเทศอย่างละเอียดมากขึ้นเพราะหลายธุรกิจที่อยู่ได้ตอนนี้เป็นบริษัทผีดิบ ที่อยู่ได้ด้วยมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐเท่านั้น หรือบริษัทที่ไม่มีความสามารถในการทำกำไร ทั้งในปัจจุบันและอนาคตมากเพียงพอ ที่จะชำระหนี้สินที่บริษัทมีได้อีกเป็นเวลานาน และ 5.มิติด้าน new world order (NWO) หรือระเบียบใหม่ของโลก ที่ต่อไปนี้โลกจะก้าวสู่การเติบโตแบบสมดุลไปด้วยกัน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ผู้บริโภค ธุรกิจ ตลอดจนสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนมากกว่าการเติบโตในเชิงตัวเลขเพียงอย่างเดียว ประเด็นอยู่ที่ว่าประเทศต่างๆ รวมถึงภาคธุรกิจ ต้องเร่ง Transformation ตัวเอง เพื่อสร้างโอกาสจากบรรทัดฐานใหม่ให้ได้ก่อนคู่แข่ง
ปี 2564 จึงถือเป็นปีทองของผู้ส่งออกไทย แต่ปีทองก็มีวันหมดอายุเช่นกัน เนื่องจากประเมินภาพคาดการณ์ว่า ปีทองของภาคการส่งออกไทยจะอยู่อีกประมาณ 4 เดือน ซึ่งหลังจาก 4 เดือนนี้ เชื่อว่าประเทศไทยน่าจะต้องเจอกับความท้าทายใหม่ ที่เป็นเรื่องระเบียบใหม่ของโลก เนื่องจากบริบทโลกมีการเปลี่ยนแปลงสูงมาก ทำให้ผู้ส่งออกที่มีความแข็งแรงและเก่งในการปรับตัวเท่านั้นถึงจะมีชีวิตรอดได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องเรียนรู้และพัฒนาเพิ่มมากขึ้น เพราะหากสินค้าของผู้ประกอบการไทย ไม่ได้เป็นที่ต้องการ หรือตอบโจทย์ความต้องการของโลกได้ เท่ากับสินค้าชิ้นนั้นจะอยู่นอกเหนือวงโคจรการซื้อขายในตลาดโลก และไม่สามารถเข้ามาอยู่ในโมเมนตัมของการซื้อขายได้
ในวันนี้ภาครัฐและภาคเอกชน จะต้องเข้ามาช่วยปูทาง พัฒนาต่อยอด และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถมีที่ยืนในระเบียบใหม่ของโลกให้ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เอ็กซิมแบงก์ไม่ลืม ทำให้การช่วยเหลือของเอ็กซิมแบงก์ จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การเติมเงินทุนสนับสนุนเท่านั้น เพราะวันนี้ซัพพลายเชนของโลกในปี 2565 มีขนาดสั้นลง อาทิ จากเดิมที่เคยซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ต้องรอของ 1-2 สัปดาห์ ก็อาจต้องรอนานกว่าเดิม เพราะไม่แน่ในอนาคตอาจเกิดโควิด-20 ขึ้นได้ จากขณะนี้ที่มีโควิด-19 ซึ่งผลกระทบจะทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ สามารถทำได้ง่ายและสะดวกมากเท่าเดิมแล้ว เหมือนปัญหาในปัจจุบันที่เกิดขึ้น ในส่วนของตู้ขนส่งสินค้า หรือตู้คอนเทนเนอร์ มีไม่เพียงพอในการใช้หรือขาดแคลน แต่ความจริงแล้วตู้คอนเทนเนอร์ไม่ได้ขาดแคลน เพียงแต่ไม่สามารถกลับเข้ามาในประเทศไทยได้ จึงเห็นภาพตู้คอนเทนเนอร์ไปกองอยู่ที่ประเทศสหรัฐ หรือประเทศในยุโรป
ทำให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะต้องปรับตัวรับกับบริบทโลกใหม่ โดยต้องตั้งคำถามว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะพัฒนาซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่ในประเทศไทยเอง ซึ่งภาพเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนไทย หรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องปรับตัว ผ่านการจัดทำระบบพึ่งพาและพึ่งพิงกันเอง โดยคนตัวใหญ่จะต้องพึ่งพาคนตัวเล็กให้มากขึ้น ส่วนคนตัวเล็กก็ต้องสามารถทำให้คนตัวใหญ่มีความเชื่อใจ และไว้ใจในการยอมให้ตัวเองเข้ามาเป็นหนึ่งในซัพพลายเชนให้ได้ เพราะคนตัวใหญ่ก็คงมีความลำบากในการซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการขนส่งเข้ามาเช่นกัน
เอ็กซิมแบงก์มีการกำหนดบทบาท ซึ่งหนึ่งในทิศทางใหม่ภายใต้บทบาทการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาของเอ็กซิมแบงก์คือ การสร้างผู้ส่งออกรายใหม่ด้วยการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่าน 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การบ่มเพาะ ให้ความรู้ด้านการส่งออก อาทิ ขั้นตอนส่งออก พิธีการศุลกากร ภาษีนำเข้าของประเทศปลายทาง การให้คำปรึกษาทางธุรกิจในด้านต่างๆ ทั้งการทำการตลาด ระบบบัญชี และการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงมีเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ประกอบการประเมินความพร้อมของธุรกิจก่อนเริ่มต้นส่งออก
2.การต่อยอด และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ อาทิ การจับคู่พันธมิตรทางธุรกิจ ที่มองว่าหากโควิด-19 สงบลงได้ จะมีกิจกรรมจับคู่กับผู้ซื้อในต่างประเทศที่เป็นตัวจริงของจริง เพื่อให้เกิดธุรกรรมการซื้อขายและต่อยอดธุรกิจได้ เนื่องจากในช่วงการระบาดโควิด-19 ก็มีการจับคู่พันธมิตรทางธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย จัดงานมหกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า โดยพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปงานแสดงสินค้าในต่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ที่มีผู้ซื้อรายสำคัญในแต่ละธุรกิจหรืออุตสาหกรรม เพื่อให้เอสเอ็มอีไทยมีโอกาสนำเสนอสินค้าในเวทีระดับโลก รวมถึงการจัดโครงการ Thailand Pavilion EXIM BANK ซึ่งจะไปเช่าพื้นที่ หรือเปิดหน้าร้านออนไลน์บนแพลตฟอร์มชั้นนำระดับโลก แล้วให้เอสเอ็มอีเข้ามาวางขายสินค้า เพื่อสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีไทยเข้าถึงผู้ซื้อทั่วโลกได้ และ 3.การเติมทุนเสริมสภาพคล่องตลอดวงจรธุรกิจ อาทิ สินเชื่อ Trade Finance สินเชื่อ Transformation Loanรวมถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงทางธุรกิจทั้งบริการประกันการส่งออก เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนด้วย
ความสำคัญในวันนี้จึงเป็นเรื่องของการที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับ และสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีเพียงเรื่อง ระเบียบใหม่ของโลกอย่างเดียวเท่านั้น แต่เชื่อว่าปัจจัยในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จะมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยอย่างแน่นอนในปี 2565 ทำให้ผู้ส่งออกไทยจะต้องเอาตัวรอดให้ได้ โดยอยากให้เพิ่มความรู้ในสิ่งใหม่ และทำตัวให้เป็นน้ำครึ่งแก้วอยู่เสมอ
นอกจากบทสัมภาษณ์ดังกล่าวแล้ว สามารถรับฟังได้เพิ่มเติมในงานสัมมนา “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” จัดโดย มติชน ร่วมกับพันธมิตรชั้นนำ โดย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษ “ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิด” จากนั้นเปิดมุมมอง บอกเล่าทิศทางการทำงานภาครัฐ ในวงเสวนา “2021 สู่ 2022 ทิศทางส่งออกไทย” โดย นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)
อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญที่พลาดไม่ได้! กับวงเสวนา “มุมมองผู้ส่งออก ความหวังเศรษฐกิจไทย” ตัวแทนจากภาคเอกชน ที่จะมาร่วมถอดบทเรียนในครั้งนี้ นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย นายยุทธนา ศิลป์สรรควิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ดร.การัณย์ อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด ในวันพุธที่ 22 กันยายน 2564 เวลา 09.00-12.00 น. ในรูปแบบ Live Streaming ที่ FB : Matichon Online-มติชนออนไลน์ FB : Khaosod-ข่าวสด FB : Prachachat- ประชาชาติธุรกิจ YouTube : matichon tv-มติชน ทีวี #มติชน #สัมมนา #ปลุกพลังส่งออกพลิกเศรษฐกิจไทย #ประเทศไทยไปต่อ