รีเซต

ซีไอเอ็มบี ไทย ชี้จีดีพีไตรมาส2 โตแค่ 2.3% กางปัจจัยลบอื้อ-เงินเฟ้อแตะ5%

ซีไอเอ็มบี ไทย ชี้จีดีพีไตรมาส2 โตแค่ 2.3% กางปัจจัยลบอื้อ-เงินเฟ้อแตะ5%
มติชน
7 เมษายน 2565 ( 19:43 )
27
ซีไอเอ็มบี ไทย ชี้จีดีพีไตรมาส2 โตแค่ 2.3% กางปัจจัยลบอื้อ-เงินเฟ้อแตะ5%

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำนักวิจัยฯ ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2565 จาก 3.8% เหลือ 3.1% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเผชิญความผันผวนจากการระบาดของเชื้อโอมิครอน และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (เอเอสเอฟ) รวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน นโยบายการเงินแบบเข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)โดยเฉพาะการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและปรับลดงบดุลเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว ขณะที่การส่งออกไทยยังขยายตัวโดดเด่น แม้มีปัญหาค่าระวางเรือสูง ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ กระทบการผลิตกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ แต่ทั่วโลกยังต้องการสินค้าจำนวนมากจึงส่งผลดีต่อการส่งออกไทย

 

นายอมรเทพ กล่าวว่า คาดว่าในไตรมาส2/2565 คาดว่าจีดีพีไทยขยายตัว 2.3% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขยายตัว 0.8% โดยปัจจัยหนุนต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส2ปีนี้ ได้แก่
1.การท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้น จากความเชื่อมั่นฟื้น และเชื่อว่าคนอยู่ร่วมได้กับโควิด แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังสูง หากได้รับวัคซีนเพิ่มและรัฐลดข้อจำกัดต่างๆให้การเดินหน้าเปิดประเทศ จะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวไทย 2.รายได้ภาคเกษตรดีขึ้น จากราคาข้าว ยางพารา ปาล์ม อ้อย และมันสำปะหลังดีขึ้น แต่เพราะเกษตรกรเจอปัญหารายได้ตกต่ำมานาน จนหนี้ครัวเรือนสูง อาจทำให้เงินไหลเวียนในระบบไม่มากเท่าที่ควร 3.การส่งออกขยายตัวดี ทั้งสินค้าเกษตร ปิโตรเคมี และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นขยับตามราคาน้ำมัน รวมถึงสินค้ากลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหารแปรรูป ไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เช่น สหรัฐ ยุโรป และอาเซียน 4.การใช้จ่ายภาครัฐแผ่ว แม้มีมาตรการพยุงกำลังซื้อ แต่อาจมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณทำให้ไม่ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงได้ทั้งหมด และอาจส่งผลให้กำลังซื้อผู้มีรายได้น้อยอ่อนแอลง และ5.เอกชนอาจรอลงทุนโครงการใหม่ โดยรอความชัดเจนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและนโยบายการลงทุน

 

นายอมรเทพ กล่าวต่อว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าระดับ 34.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ประกอบกับไตรมาส2 ทางเฟดน่าจะขยับดอกเบี้ยขึ้นเร็วและแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ จะส่งผลให้เงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรไทย ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐจะกว้างขึ้นเร็ว แต่เชื่อว่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าช่วงครึ่งหลังปีนี้อยู่ระดับ 33.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ด้านอัตราดอกเบี้ย ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ทั้งปี 2565 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และหากมาตรการภาครัฐออกมาไม่มากเช่นนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะเลือกคงดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเร่งให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว และหามาตรการอื่นเสริม ขณะที่ภาครัฐน่าจะมีบทบาทมากขึ้นในการดูแลค่าครองชีพช่วงครึ่งปีหลัง คาดเงินเฟ้อไตรมาส2ปีนี้ อยู่ระดับ 5% และทั้งปี 2565 อยู่ที่ 4.5% จากสมมติฐานราคาน้ำมันดิบสูงสุด120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากนั้นปรับลดลงครึ่งปีหลังและเฉลี่ยทั้งปี 2565 อยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง