"CIMB "แนะไทยแก้ “ส่งออกศูนย์เหรียญ”

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวเสวนาหัวข้อ ผ่ากำแพงภาษี "ทรัมป์" ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ : Out of The Trump's Uncertainty จัดโดยเครือเนชั่น ว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพาสหรัฐฯ มีการส่งออกไปเกินดุลถึง 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องจับตามากกว่ามาตรการทางภาษี คือ Non-Tariff Barrier หรือมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งทรัมป์ต้องการที่จะพึ่งพาตัวเองได้ เช่น รถยนต์ เหล็ก เป็นต้น และโลกต่อจากนี้ ทุนนิยมของสหรัฐ จะเป็นโลกาภิวัฒน์ ที่โลกฉีกออกเป็น 2 ด้าน คือ การพึ่งพาตัวเอง และลดการพึ่งพาจีน
จีนกับสหรัฐ เหมือนกับแฝดสยาม เชื่อมกันอยู่ หากจะต้องตัดแขน ตัดขา ตัดปอด ตัดไต ก็ตายกันทั้งคู่ เพราะการค้าเชื่อมโยงกันหมด หากจะต้องแยกให้ได้ ต้องมีการผ่าตัดครั้งใหญ่
สิ่งที่เผชิญวันนี้ คือ การผ่าตัดทุนนิยม สหรัฐฯ ต้องแยกกันเดินจากจีน โดยชาติที่เป็นเบอร์หนึ่งของโลก คือ ขนาดเศรษฐกิจสหรัฐ แต่จีดีพีสหรัฐ โตได้ปีละร้อยละ 2 แต่จีนโตได้ปีละร้อยละ 4 อนาคต 10 ปี จีนอาจจะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่ง ซึ่งสหรัฐยอมไม่ได้
ส่วนอาเซียนนั้น หลายประเทศมีอัตราภาษีที่ทรัมป์ประกาศออกมาสูงมาก ซึ่งเป็นโจทย์ที่ไทยต้องติดตาม เพราะไทยก็เป็นหนึ่งในชาติอาเซียน
เป็นประตูให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาเพื่อส่งไปยังสหรัฐฯ จึงไม่ควรดูเฉพาะตัวเลขส่งออก และตัวเลขการขาดดุลการค้า แต่สิ่งที่ไทยต้องดู คือ สินค้าที่เป็นมูลค่าเพิ่ม ไทยสามารถผลิตได้จริงเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องรับมือมีอยู่ 3 ด้าน ด้านแรก รับมือกับจีน มี 3 ข้อที่ต้องรับมือ ได้แก่ ‘ทัวร์ศูนย์เหรียญ’ ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาแต่ไม่ได้ซื้อสินค้าไทยเลย
สองคือ ‘การลงทุนศูนย์เหรียญ’ ซึ่งมีการใช้แรงงานและวัตถุดิบต่างๆ จากจีนโดยไม่ได้มีการกระจายการลงทุนเป็นเม็ดเงินเข้าประเทศเลย สามคือ ‘ส่งออกศูนย์เหรียญ’ ทำให้ไทยเป็นแค่ทางผ่านสินค้าจีน และทำให้ขาดดุลการค้ากับจีนเป็นอย่างมาก
ด้านที่สอง คือ รับมือกับสหรัฐฯ โดยมองว่าจะต้องจับตาอยู่ 2 เรื่อง คือ เศรษฐกิจอเมริกาที่อาจชะลอ เพราะคนอเมริกาจะออมมากขึ้น นอกจากนี้ อาจมีการลดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะทรัมป์เองมองว่าดอลลาร์มีมูลค่ามากจนเกินไป
ด้านที่สาม คือ รับมือกับประเทศไทย แม้ว่าจะเจรจาเรื่องภาษีให้ลดจากร้อยละ 36 เป็น 0% ได้ก็คงยังไม่พอ เพราะโจทย์ใหญ่ของทรัมป์คือ Non-Tariff Barrier เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือ การอุดหนุนจากภาครัฐ ที่ทำให้สินค้าอเมริกาไม่สามารถขายได้ในประเทศไทย
อีกเรื่อง คือ การกีดกันการลงทุนหรือภาคบริการ ที่มีข้อจำกัดกับสหรัฐ ถึงเวลาที่แก้ไขกฎระเบียบให้เกิดการลงทุนมากขึ้น