รีเซต

ซีไอเอ็มบีไทยคงเป้าจีดีพีปีนี้ 0.7% - หวั่นโควิดลามภาคการผลิตส่งออก ฉุดเศรษฐกิจไทยเสี่ยงติดลบได้

ซีไอเอ็มบีไทยคงเป้าจีดีพีปีนี้ 0.7% - หวั่นโควิดลามภาคการผลิตส่งออก ฉุดเศรษฐกิจไทยเสี่ยงติดลบได้
ข่าวสด
6 สิงหาคม 2564 ( 15:09 )
52

 

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ธนาคารยังไม่ปรับประมาณการณ์เซรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2564 โดยคงไว้ที่ 0.7% ซึ่งในแง่ดีสุดคือ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลากยาวถึงไตรมาส 3 และกลางไตรมาส 4 หรือราวเดือนพ.ย. สามารถเปิดประเทศได้ ขณะเดียวกันหากการระบาดของโควิดยืดเยื้อกว่าที่คาด ทำให้ต้องล็อกดาวน์ที่เข้มข้นขึ้น และลามไปสู่ในภาคของการผลิตเพื่อการส่งออก รวมถึงในต่างประเทศเกิดการระบาดใหม่ที่รุนแรงจนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้กระทบต่อการส่งออกของไทยที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ ก็อาจมีโอกาสทำให้จีดีพีไทยปีนี้เสี่ยงจะติดลบได้ โดยที่ซีไอเอ็มบีไทยได้ประมาณการเติบโตส่งออกของไทยปีนี้ที่ 15%

 

 

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท โดยเชื่อว่าในระยะสั้นจะยังคงอ่อนค่าลงไปถึงระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากล่าสุดอยู่ที่ 33.30 บาท เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับมา แต่หากสถานการณ์ดีขึ้นในไตรมาส 4 ก็เชื่อว่าเงินทุนก็จะเริ่มไหลกลับเข้ามา และค่าเงินบาทก็จะกลับเข้าสู่ระดับปกติได้

 

 

ขณะที่นายเกษม พันธ์รัตนมาลา CFA กรรมการ และหัวหน้าฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันนักลงทุนไทย ได้ขยายโอกาสการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านตลอดเวลา จากตัวเลข Thailand Direct Investment (TDI) คนไทยไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2559 โดยในปีนี้ลงทุนไปแล้ว 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าไม่สูงมากเทียบไตรมาส 1 ปีที่แล้ว 6 พันล้านเหรียญ ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะ 3-5 ปี หากธุรกิจเติบโตสามารถแข่งขันได้ เงินลงทุนจะไหลกลับเข้ามาในประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งขึ้น

 

 

ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย Foreign Direct Investment (FDI) กลับน้อยกว่าเงินที่คนไทยนำไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน โดย FDI ปีก่อน ติดลบ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ FDI มาไทยไม่ได้สูงมาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว อาจเพราะตลาดไทยไม่น่าสนใจในสายตาต่างชาติ เนื่องจากไม่ค่อยมีบริษัทที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่เกี่ยวกับเทคโนโลยี สินค้าไฮเทค สมาร์ตโฟน รถนยต์ไฟฟ้าหรืออีวี ซึ่งจุดนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญว่าโครงสร้างพื้นฐานของไทยมีปัญหาหรือไม่ ทั้งในแง่ของคน การศึกษา ค่าจ้างแรงงานราคาไม่ถูก และระบบโลจิสติกส์ไม่เอื้อ ทำให้ประเทศไทยขาดความน่าสนใจในการลงทุน ไม่เพียงนักลงทุนต่างชาติแม้แต่นักลงทุนไทยยังไปลงทุนเพื่อนบ้านเลย

 

 

นายเกษม กล่าวอีกว่า ในส่วนของกระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเกือบ 1 แสนล้านบาทนั้น อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอยู่ในระดับไม่ถึง 10,0000 คนต่อวันได้ ก็มีโอกาสจะเห็นกระแสเงินลงทุนไหลกลับมามองตลาดหุ้นไทยได้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาพอสมควรแล้ว แต่อย่างไรก็ดี การที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังพุ่งสูง มีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน และการท่องเที่ยวลดลงด้วย ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า ดังนั้นหากนักลงทุนต่างชาติมองว่าค่าเงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าลงได้อีก เป็นไปได้ที่นักลงทุนจะยังไม่เข้ามาลงทุน เนื่องจากถ้าได้กำไรจากตลาดหุ้น และต้องไปเสียอัตราแลกเปลี่ยนอาจมองว่าไม่คุ้ม

 

 

ขณะเดียวกันหากควบคุมการระบาดได้ในไตรมาส 3 และจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยยะในไตรมาส 4 ก็มีโอกาสที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะขยับขึ้นไปที่ระดับ 1,690 จุด หรือปรับขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 10% ส่วนหุ้นที่น่าสนใจจะเป็นหุ้นกลุ่มการบริโภคในประเทศจะฟื้นตัวได้เร็ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มค้าปลีก ร้านอาหาร แต่หากเป็นในทิศทางตรงกันข้ามดัชนีก็อาจจะปรับลงต่ำกว่า 1,500 จุดได้ รวมถึงหุ้นกลุ่มที่กล่าวมาอาจถูกเทขายได้อีก และเงินบาทก็มีโอกาสจะอ่อนค่าลงไปได้อีก ดังนั้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จะเป็นหุ้นกลุ่มส่งออก โดยเฉพาะอิเล็กโทรนิค กลุ่มอาหารเพื่อการส่งออก เป็นต้น รวมถึงหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง